มอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจะร่วงลงอีก แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลก็ตาม โดยระบุว่าจนถึงขณะนี้ค่าเงินในเอเชียยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพง
"ต้นทุนนำเข้าเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ประเทศไทย เกาหลีใต้ และอินเดีย มีตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อีกทั้งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ส่วนผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงที่มีต่อตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคนั้นค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากหลายประเทศใช้มาตรการอุดหนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เรามองว่าปัญหาใหญ่สำหรับเอเชียไม่ได้เกิดจากวิกฤตการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ แต่เป็นราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นรุนแรง แม้ราคาน้ำมันปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ประเทศต่างๆในเอเชียก็ต้องทำงานหนักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้นเหมือนแต่ก่อน " สตีเฟ่น เจน นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราจากมอร์แกน สแตนลีย์กล่าว
นักวิเคราะห์มอร์แกน สแตนลีย์คาดว่า ค่าเงินริงกิตมาเลเซียจะร่วงลง 3.5% แตะระดับ 3.38 ริงกิต/ดอลลาร์ เงินวอนเกาหลีใต้จะร่วงลง 5.9% แตะระดับ 1,076 วอน/ดอลลาร์ เงินรูเปียห์อินโดนีเซียจะอ่อนตัวลง 2.6% แตะระดับ 9,367 รูเปียห์/ดอลลาร์ และเงินรูปีอินเดียจะอ่อนตัวลง 6.4% แตะระดับ 45.23 รูปี/ดอลลาร์
เกาหลีใต้มียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทุกเดือนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่อินเดียมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นตัวเลขชี้วัดอัตราหมุนเวียนของสินค้า การบริการ และรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศนั้นและประเทศคู่ค้า โดยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็น 4 ประเทศที่ใช้น้ำมันดิบมากที่สุดในเอเชีย
นักวิเคราะห์มอร์แกน สแตนลีย์ยังกล่าวด้วยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เม็ดเงินทุนไหลออกนอกประเทศเพราะตัวเลขเงินเฟ้อจะกดดันให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนแห่ถอนทุนออกจากตลาดหุ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกลางอินเดีย ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--