นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้เลื่อนเปิดประมูลงานโยธาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่—บางซื่อ จาก 4 ส.ค. เป็นกลางเดือน ส.ค.นี้ คาดจะมีผู้สนใจหลายราย พร้อมเสนอให้รัฐกำหนดนโยบายผูกขาดส่งเสริมผู้ผลิตตู้โดยสาร เพียงรายเดียวเพื่อจูงใจการลงทุน
การเลื่อนเวลาประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงเกิดจากขั้นตอนการจัดทำเอกสาร ซึ่งถือว่าไม่มีผลกระทบต่อแผนงานโดยรวม ซึ่งหลังจากได้เอกชนผู้ชนะประมูลแล้ว ก่อสร้างเส้นทางแล้ว งานก่อสร้างจะเริ่มได้ในปลายปี 2551 และการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นภายใน 3-4 ปีข้างหน้า โดยเส้นทางนี้ใช้เงินก่อสร้างรวม 59,803 ล้านบาท และ รฟม.ได้ลงนามเงินกู้ก้อนแรกจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) แล้ว รวมวงเงิน 18,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ รฟม.รับผิดชอบก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทางใหม่ โดยอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ—ท่าพระ ขณะนี้ได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจราจาเงินกู้กับเจบิก ส่วนสายสีเขียว ประกอบการด้วยสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่ และเส้นสีเขียวอ่อน แบริ่ง-สมุทรปราการ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะเร่งรัดให้ประกวดราคาให้ได้ในปลายปี 2551
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ เจบิกอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร โดยในเดือนตุลาคมนี้ จะปรับองค์กรแยกให้หน่วยงานที่ดูแลการลงทุน-ส่งออกของนักลงทุนญี่ปุ่นไปรวมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งญี่ปุ่น (เจ-เอ็กซิม) ส่วนหน่วยงานกำกับการปล่อยเงินกู้ จะแยกไปรวมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ดังนั้น หลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไป การทำสัญญาเงินกู้ระหว่างไทย-เจบิก ก็จะเปลี่ยนคู่สัญญาเป็นไทย-ไจก้า โดยในขณะนี้เท่าที่ทราบผู้บริหารคนใหม่ของไจก้า จะให้ความสำคัญในการปล่อยกู้ประเทศทวีปแอฟริกาเป็นหลัก เพราะเห็นว่า ประเทศในเอเชียเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว
นายประภัสร์ ยังกล่าวด้วยว่า เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในไทย เพื่อรองรับการเกิดขึ้นใหม่ของรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งส่งสัญญาณที่ชัดเจน ให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า ตู้รถไฟ จะต้องมีการใช้งานในไทยอย่างน้อย 300 ตู้ ซึ่งหากให้คุ้มค่าต่อการลงทุนควรมีผู้ลงทุนเพียงรายเดียว ซึ่งในขณะนี้เท่าที่ทราบมีเอกชนหลายรายจากหลายประเทศสนใจจะเข้ามาลงทุน เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น และจีน แต่ทั้งนี้ ทุกรายล้วนรอความชัดเจนจากรัฐบาลไทย
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--