นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 2% ในการประชุมซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.) หลังจากอัตราว่างงานเดือนก.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราว่างงานเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 5.7% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2547 ขณะที่ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรร่วงลง 51,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเดือนที่ 7 สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัญหาในตลาดการเงินซึ่งมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐ รวมถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อ่อนแอ และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
ซุน วอน ซอน นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า "เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงและอัตราว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นนี้ อาจทำให้เบน เบอร์นัน เก้ ประธานเฟดถูกกดดันในเรื่องดอกเบี้ย แต่เราเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วเบอร์นันเก้จะยังไม่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อเหมือนอย่างที่นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ไว้ แต่เลือกที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ก่อนเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมากไปกว่านี้"
ด้านนายเทอร์รี คอนเนลลีย์ นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยโกลเด้นเกทกล่าวว่า "เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลง ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 5 ส.ค.นี้ เพราะเฟดมองว่าการพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ เป็น 'ภาระกิจเร่งด่วน' กว่าการสกัดกั้นเงินเฟ้อ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2548 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้น และเป็นการปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.7%"
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า "ภารกิจสำคัญลำดับแรกของเฟดก็คือการดึงเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ แต่ถึงกระนั้น เฟดกำลังพิจารณาใช้มาตรการรับมือกับสภาวการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในปัญหาที่เฟดกังวลมากที่สุดคือการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น" สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--