ธปท.ไฟเขียวแบงก์จับมืออสังหาฯ ตั้งบ.รวมทุนพัฒนา NPA ต่อเพื่อนำออกขาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2008 09:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมบูรณ์  จิตเป็นธน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จัดตั้งบริษัทรวมทุน ทั้งเพื่อพัฒนาสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPA)และนำออกจำหน่าย ซึ่งจะช่วยลดระดับหนี้ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารพาณิชย์
เบื้องต้นจะอนุญาตให้นำ NPA ประเภทสิ่งก่อสร้างที่พัฒนายังไม่เสร็จนำไปพัฒนาต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ห้าม NPA ประเภทที่ดินเปล่านำมาพัฒนาและออกจำหน่าย เนื่องจากไม่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์มุ่งธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ซึ่งรวมถึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นในสัดส่วนพียง 40% ของทุนทั้งหมด
“แบงก์มี NPA และบริษัทอสังหาฯ เป็นมืออาชีพ ดังนั้นหากเอาจุดแข็งมารวมกัน ซึ่งเป็นวิธีที่คลายกับแบงก์ในเกาหลี ทำให้ NPA ทั้งระบบซึ่งขณะนี้มีกว่า 300,000 ล้านบาทลดลงได้อย่างมากเป็นช่องทางให้ NPL ทยอยลดลงได้ดีด้วย"นายสมบูรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับ 2 ซึ่งการจัดตั้งบริษัทรวมทุนน่าจะได้ประโยชน์ในทางแง่ที่ดีมากกว่าผลเสีย โดยเป็นการผ่องถ่ายความเสี่ยงจากผลกระทบ NPA ไปยังบริษัทรวมทุน ซึ่งจะมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีข้อบังคับในการปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการของธนาคารพาณิชย์ที่จะให้กับบริษัทร่วมทุนด้วย เพื่อป้องกันการผลร้ายที่จะตามมา ซึ่งเบื้องต้นธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาสินเชื่อตามสภาพความเป็นจริงและเข้มงวดเช่นเดียวกันการปล่อยสินเชื่อทั่วไป ขณะที่ ธปท.จะกำหนดระยะเวลาของการพัฒนา NPA ด้วย
นอกจากนั้น ธปท.จะเสนอให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการฟ้องร้องบังคับคดีและการขายทอดตลาด NPL และ NPA เพื่อเร่งกระบวนการให้ยึดทรัพย์เร็วขึ้นด้วย
ล่าสุด ระบบธนาคารธนาคารพาณิชย์ไทยมีหนี้ NPL ก่อนหักการกันสำรองหนี้ (Gross NPL) ทั้งสิ้น 447,534 ล้านบาท คิดเป็น6.44% ของสินเชื่อรวม แยกเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยมูลค่า 436,424 ล้านบาทหรือ 6.97% สาขาต่างประเทศ 11,110 ล้านบาทหรือ1.6% ขณะที่ net NPL อยู่ที่ 229,983 ล้านบาท หรือ 3.42% แยกเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย 227,999 ล้านบาท หรือ 3.77% ต่อสินเชื่อรวมและสาขาต่างประเทศ มูลค่า 1,984 ล้านบาทหรือ 0.29%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ