(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบทีโอทีลงทุน 2.9 หมื่นลบ.สร้างโครงข่าย 3G คลื่นมือถือ 1900

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 5, 2008 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการก่อสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3  (3G) ของบมจ.ทีโอที วงเงินลงทุน 2.9 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นเงินกู้ของทีโอที 2.4 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลอีก 2.6 หมื่นล้านบาท
โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในปี 52 และจะแล้วเสร็จในปี 55 ซึ่งจะมีการตั้งสถานีฐาน จำนวน 5,220 แห่ง และจะมีลูกค้า 4 ล้านราย ภายในระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเป็นการปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 1900 MHz เดิม จำนวน 500 แห่ง ให้สามารถรองรับบริการ 3G และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งจะเริ่มให้บริการในเขตนครหลวง และเมืองหลักสำคัญ
ส่วน เฟสที่ 2 จะเป็นการขยายโครงข่ายทั้งในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล และเขตภูมิภาคเพิ่มเติมจนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2555
มือถือระบบ 3 จี เกือบแท้ง!!! หลัง “มั่น พันธโนทัย" ชง ครม. ไร้ความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ “หมัก" ไว้หน้า!! ส่งบอร์ดลงทุนฯพิจารณาใหม่ ก่อนชงอีกรอบ
นายมั่น พัธโนทัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นว่าควรส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ไปศึกษาความเหมาะสมของการลงทุน รวมถึงการส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) สำนักงานประมาณ กระทรวงการคลัง ร่วมเสนอความเห็นด้วย
เนื่องจากโครงการลงทุนดังกล่าวต้องใช้เงินกู้ในลักษณะรัฐต่อรัฐถึง 26,600 ล้านบาท ส่วนอีก 2,400 ล้านบาทเป็นเงินลงทุนของทีโอที ซึ่งเป็นวงเงินลงทุนค่อนข้างสูง และมีการกู้เงินจากต่างประเทศ รวมทั้ง การดำเนินการเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรอิสระ รวมทั้งอาจต้องดำเนินการในลักษณะร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมครม.ตัวแทนสศช.ได้ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวควรจะผ่านการพิจารณาของสศช.ก่อนเสนอครม.มิฉะนั้นจะถือว่าขัดกับมติครม.เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2543 ที่ระบุว่าโครงการนี้ต้องขอความเห็นจากสศช.ก่อน จากนั้นนายมั่น ได้เสนอให้ยกเลิกมติครม.ดังกล่าว แต่น.พ.สรุพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังยังสนับสนุนให้สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องความเหมาะสมของโครงการ และความเป็นได้ของการลงทุนก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ