ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร และแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ส.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันข้างหน้า นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 108.23 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 108.22 เยน/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินฟรังค์ที่ระดับ 1.0542 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0483 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.5458 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5575 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.9554 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9613 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 0.7256 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7288 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.9153 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9290 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
เดวิด กิลมอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ อนาไลติกส์ ในรัฐคอนเน็กติกัต กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นที่ 2% ในการประชุมเมื่อคืนนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) พร้อมกับยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูงเกินคาด ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเทศอื่นๆที่พุ่งสูงขึ้น
เฟดคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะขยายตัวขึ้นอีกในปีนี้และปีหน้า โดยหนึ่งในข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่เฟดพิจารณาว่าเป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) เดือนมิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2548 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้น และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.7%
"การแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อของเฟดทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันข้างหน้า เพราะเฟดยอมรับว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยเร็วขึ้น" กิลมอร์กล่าว
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ที่ร่วงลง 2.24 ดอลลาร์ ปิดที่ 119.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 7.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวช้าลง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--