ปตท.เชื่ออนาคตไทยจะก้าวเป็นศูนย์กลางการส่งออกเอทานอลในภูมิภาคอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 6, 2008 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความก้าวหน้าด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะเอทานอลสูงมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการส่งออกเอทานอลภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบโดยเฉพาะกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ซึ่งสามารถผลิตเป็นน้ำมันได้ 20 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้เชื่อว่าต่อไปประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีความตื่นตัวด้านเอทานอลสูงขึ้นแน่นอน
โดยตลาดอาเซียนกำลังกลายเป็นตลาดด้านพลังงานที่สำคัญของไทย รองจากประเทศสหรัฐ ยุโรป และจีน โดย ปตท.ส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานไปอาเซียนถึง 20% ของตลาดส่งออกทั้งหมด ประกอบกับจำนวนประชากรอาเซียนมีมากและยังเชื่อมโยงการส่งออกไปยังตลาดจีนและอินเดียได้ด้วย ทำให้ตลาดอาเซียนมีความน่าสนใจในสายตานานาประเทศสูงมาก
"หากมีการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้ดีแล้วจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของโลกได้ในอนาคต ขณะที่ไทยก็เป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญของอาเซียนแต่ขณะนี้ติดปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองจึงจำเป็นต้องลดความขัดแย้งในประเทศลงเพื่อดึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจกลับคืนมา" นายประเสริฐ กล่าวระหว่างประชุมย่อยภาคธุรกิจอาเซียนในงานการประชุม รมต.พลังงานอาเซียน ครั้งที่ 26
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้หารือกันถึงความร่วมมือทางธุรกิจพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงชีวภาพ และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศสมาชิกเกิดการค้าขายพลังงานที่สำคัญระหว่างกัน รวมทั้งป้องกันปัญหาการขาดแคลนพลังงานและผลักดันให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของอาเซียน
และจากการประชุมร่วมกันของภาคเอกชนดังกล่าวก่อให้เกิดช่องทางการซื้อขายพลังงานระหว่างกันมากขึ้น เช่น ปัจจุบันไทยขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าสามารถซื้อได้จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ส่วนน้ำมันซื้อได้ที่บรูไนและมาเลเซีย ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ซื้อได้จากอินโดนีเซียและสหภาพพม่า ส่วนถ่านหินซื้อได้จากอินโดนีเซีย ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะเอทานอลสามารถซื้อได้ที่ไทย และปาล์มน้ำมันซื้อได้จากมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของประเทศสมาชิกเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน โดยบางประเทศมีการสำรองไว้ใช้สูงถึง 90-100 วัน ขณะที่ไทยสำรองน้ำมันตามกฎหมายทั้งน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบไว้ใช้ได้ 30 วัน ซึ่งแต่ละประเทศมีความต้องการใช้แตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่สามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ นอกจากการสำรองน้ำมันแล้วการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างกัน เช่น ท่อส่งก๊าซ และสายส่งไฟฟ้า ถือเป็นความมั่นคงด้านพลังงานที่ควรส่งเสริมเช่นกัน
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า จากการประชุมกับผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ของโลกในครั้งนี้ส่งผลให้ ปตท.เตรียมจะหารือแบบทวิภาคีบางประเทศซึ่งเป็นคู่ค้ารายเดิม และจะหารือกับ รมต.พลังงานของบางประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าหารือกับประเทศใดและเรื่องอะไร
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันนั้นยังอยู่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบการมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาล 6 เดือน ส่งผลให้ราคาจำหน่ายในประเทศลดลงมาอยู่ระดับ 30 บาทต่อลิตร แต่มาตรการของรัฐเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น และราคาน้ำมันที่ 30 บาทต่อลิตรถือว่ายังทรงตัวระดับสูงอยู่ ดังนั้นประชาชนควรใช้น้ำมันอย่างประหยัดและให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ