รมว.คมนาคม คาดโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ตเรลลิงค์) พร้อมเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในเดือน มิ.ย.52 โดยขณะนี้งานโยธาคืบหน้ากว่า 90% แล้ว ด้านผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ชี้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 550 วัน ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท
"ขณะนี้งานโยธาและโครงสร้างของโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์มีความคืบหน้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์...คาดจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายนปีหน้า" นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการฯ
ทั้งนี้ รฟท.จะเปิดทดสอบเดินรถในเดือน ธ.ค.นี้ โดยใช้เวลาทดสอบระบบไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเดือน มิ.ย.52 โดยมีขบวนรถไฟให้บริการ 2 ประเภท คือ 1.ระบบรถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(CITY LINE) ให้บริการรับส่งผู้โดยสารทุกสถานี และ 2.ระบบรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(EXPRESS LINE) ให้บริการรับส่งผู้โดยสารเฉพาะสถานีรถไฟต้นทางและปลายทางเท่านั้น
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการฯ และผู้ว่าการ รฟท.เร่งจัดตั้งบริษัทเดินรถในเส้นทางดังกล่าว โดยจะต้องเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้เสร็จทันกำหนดการเปิดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 31 ตู้เข้าจอดอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงที่มักกะสันเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ รมว.คมนาคม ยังได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการฯ และผู้ว่าการ รฟท.เร่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการรถไฟให้ตรงต่อเวลา มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบรางมากขึ้น จากปัจจุบันที่ระบบรางมีสัดส่วนการเดินทางเพียง 12% ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารต้องเร่งผลักดันโครงการต่างๆ ของ รฟท.ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง และการซ่อมบำรุงรักษาทางรถไฟทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ รฟท.จะต้องเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการจัดตั้งบริษัทลูก 2 แห่ง คือ บริษัทบริหารทรัพย์สิน และบริษัทเดินรถ ซึ่ง รฟท.จะเป็นผู้ถือหุ้น 100% โดยแนวทางนี้จะช่วยให้การบริหารของ รฟท.ในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินรถไฟฟ้ามาฝึกอบรมให้กับพนักงานของ รฟท.เพื่อทำหน้าที่เดินรถในช่วงแรก เพราะยังไม่มีความรู้ความชำนาญในการเดินรถไฟฟ้า ส่วนการบริหารสัญญาก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างรวม 550 วันนั้นทำให้ รฟท.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขยายสัญญานั้นเป็นการดำเนินงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ค.50 ที่ให้การช่วยเหลือแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยขยายเวลาก่อสร้างออกไป 180 วัน และ รฟท.ได้ขยายระยะเวลาเพิ่มอีก 370 วัน จากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้สัญญาโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้างในวันที่ 7 ก.พ.52 และจะมีเวลาทดสอบระบบอีก 6 เดือน แล้วเสร็จในวันที่ 8 พ.ค.52
แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากการขยายเวลาก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์นั้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระแทน รฟท.เพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่งบประมาณในการก่อสร้างร่วมของโครงการนั้นยังเท่าเดิมที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--