รมว.คมนาคม ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลงอีก 3-6% เหลือ 10-13% จากปัจจุบันมีต้นทุนอยู่ที่ 16% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่นที่มีต้นทุนโลจิสติกส์ 7% โดยรัฐบาลพยายามเร่งขยายโครงข่ายระบบรางให้สมบูรณ์ และรถไฟฟ้า 9 เส้นทางหวังครอบคลุมพื้่นที่ทั้งกรุงเทพและปริมณฑล พร้อมยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิาภค
"ต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงยังทำให้คนไทยบริโภคสินค้าในราคาที่สูงกว่าประเทศที่มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำกว่า เพราะต้นทุนโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า" นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวเปิดงานเสวนาเรื่อง“นโยบายการพัฒนาการขนส่งระบบรางกับการฝ่าวิกฤติโลจิสติกส์ไทย"
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแนวทางพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 5 ด้าน คือ ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลงเหลือ 10-13% จากเดิม 16% และ พัฒนาระบบขนส่งและจราจรให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบรางเป็นสำคัญ เพราะมีต้นทุนการขนส่งต่ำ
รวมทั้ง ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม ให้ประชาชนทุกระดับชั้นใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ และ ยกระดับความสามารถของประเทศเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค
พร้อมพัฒนาระบบเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งรางให้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันวางแผนที่จะก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารวม 9 เส้นทาง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งจะขยายไปยังชานเมืองอื่นๆ โดยขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ มีความคืบหน้าและอยู่ระหว่างให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค
และเร็วๆนี้จะเสนอครม.อนุมัติดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่
ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และคาดว่าจะประสบความสำเร็จได้ยาก เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคทั้งในเรื่องการขาดเจ้าภาพที่จะผลักดันและเดินหน้าแผนพัฒนาให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งยังขาดการบูรณาการแผนงานและประสานงานระหว่างหน่วยงาน
"ที่ผ่านมาประเทศประสบกับวิกฤติราคาน้ำมันทำให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แต่ความต่อเนื่องของการพัฒนาไม่มี โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลคณะทำงานก็เปลี่ยนงานก็ไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลยังเน้นการพัฒนาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากอยู่ในโครงการที่หาเสียงไว้" นายสุชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยเร็ว เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากประเทศใดมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำก็จะได้เปรียบประเทศอื่นทันที ส่วนแนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์นั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องของบุคลากร ระบบไอที และระบบฐานข้อมูลให้มากขึ้น และที่สำคัญคือต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานโดยตรง
ด้านดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤติราคาน้ำมัน และวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่ง ทำให้การขนส่งลดลงและทุกประเทศประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการขนส่งโดยรถยนต์เป็นหลักทำให้การใช้น้ำมันค่อนข้างสูง ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขคือ เน้นการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ และที่สำคัญคือการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น การขนส่งจากน้ำไปรถยนต์หรือรถไฟ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการขนส่งมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--