(เพิ่มเติม) 3 หน่วยงานคาด ศก.H2 ชะลอ-แรงกดดันเงินเฟ้อลด/ธปท.เตือนมองยาวถึงปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 14, 2008 19:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะชะลอตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ขณะที่แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลง หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อจากนี้ผ่อนคลายได้มากขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป
รมว.คลัง หารือกับ 3 หน่วยหลักด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ร่วมด้วยสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและคาดการณ์ในอนาคต
โดย 3 หน่วยงานหลักมีความเห็นสอดคล้องกันว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้(เม.ย.-มิ.ย.51) ชะลอตัวลงตามการบริโภคและการลงทุน ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องอย่างชัดเจน โดย ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะขยายตัว 5.0-5.5% จาก 6% ในครึ่งปีแรก และทั้งปี 51 ธปท.ยังเห็นพ้องกับกระทรวงการคลังว่าเศรษฐกิจยังน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 5.6% โดยยังไม่ได้ประเมินสัญญาณเชิงบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากเป็นคาดการณ์ใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าไตรมาส 3/51 และไตรมาส 4/51 เริ่มมีสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเร็วมาก ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ทำให้เป็นไปได้สูงที่การดำเนินโยบายการเงินจะเป็นไปแบบผ่อนคลายได้มากขึ้น
ส่วนในด้านอัตราเงินเฟ้อทั้ง 3 หน่วยงานมองสอดคล้องกันว่าอัตราเงินฟ้อทั้งปีน่าจะเกิน 7% แต่ต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด
นายสมชัย กล่าวว่า ธปท.ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินโยบายการเงินและการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยชี้ให้เห็นถึงผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนในระยะต่อไป ธปท.ได้ตั้งไว้ 2 แนวทางที่จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลาย คือจะต้องประเมินภาวะเศรษฐกิจช่วงต่อไปว่าเป็นอย่างไร ทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาพลวัตรของอัตราเงินฟ้อ ซึ่ง ธปท.มองแนมโน้มอัตราเงินเฟ้อไปถึงปีหน้าด้วย ซึ่งในกรณีที่นักวิเคราะห์มองในระยะสั้นว่าเงินเฟ้อจะลดลงนั้น ธปท.มองในระยะยาวและอาจมีข้อมูลในเชิงลึกมากกว่า โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.ที่ 9.2% น่าจะสูงสุดแล้ว และในเดือนส.ค.-ก.ย.อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงได้
สำหรับในปี 52 ธปท.เห็นว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากช่วงต้นปีนี้มีฐานในระดับต่ำ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวเพื่อกำหนดทิศทางว่าจะดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้นหรือผ่อนคลาย ซึ่งธปท.จะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในการประชุมวันนี้รมว.คลังได้หารือในที่ประชุมว่าหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจควรจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กันมากขึ้นทุกเดือน เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังมีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน เพราะความเห็นที่ไม่ตรงกันในช่วงที่ผ่านมาอาจมาจากการขาดการสื่อสาร
ในเวทีนี้อาจจะให้มีการหารือไปถึงการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ด้วย ซึ่งธปท.ก็พร้อมให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเข้ามาช่วยพิจารณาเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ถือว่าสามารถดำเนินการได้ภายใต้พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็จะยังยึดการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน(core inflation) เป็นหลัก
ในระหว่างการหารือเลขาธิการ ก.ล.ต.ยังรายงานว่าขณะนี้ตลาดทุนเริ่มมีสัญญาณในเชิงบวก จากช่วงที่ผานมาจนถึงเดือนก.ค.ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงเช่นเดียวกับทั่วทั้งภูมิภาค แต่จากต้นเดือนส.ค.เป็นต้นมา แรงขายของนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดลง ดัชนีตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และการเมืองในประเทศเริ่มนิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าต่างชาติกลับเข้ามาเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ด้วย
นายสมชัย กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังรัฐบาลคงจะไม่มีการออกมาตรการระยะสั้นมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่อาจจจะมีการออกมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวและส่งออก รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ประเมินว่าต้นปีหน้าการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลง จึงขอให้กระทรวงการคลังออกมาตรการมาช่วยเหลือ ขณะที่ภาคส่งออกแม้จะขยายตัวได้ แต่จะต้องพิจารณาให้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็จะเร่งคตวามเชื่อมั่นให้นักลงทุน โดยแสดงให้เห็นความพร้อมในการลงทุนด้านเมกะโปรเจ็คต์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ