ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่พุ่งขึ้นเกิดคาดถึง 2 เท่า และข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในแถบยุโรปกำลังชะลอตัวลงอย่างรุนแรง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4807 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.4924 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.8675 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8693 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.6985 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันพุธที่ 0.7014 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.8707 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8742 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 109.63 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 109.47 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0943 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0841 เยน/ดอลลาร์
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ อเมริกา กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากดัชนี CPI ซึ่งเป็นตัวเลขชี้วัดเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงจับตาดูเงินเฟ้อและไม่ล้มเลิกนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.4% และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.2%
นักลงทุนขานรับข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า ยอดชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการในระหว่างว่างงาน ลดลง 10,000 ราย แตะระดับ 450,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ส.ค.
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของกลุ่มประเทศยุโรป โดยนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะกดดันให้ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษยังคงตรึงดอกเบี้ย หรืออาจจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยหากจำเป็น
สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ชะลอตัวลง 0.5% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี และเป็นสถิติที่หดตัวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 5 ปี
ค่าเงินยูโรที่แข็งแกร่งขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากเยอรมนีลดลงด้วย ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วยังส่งผลบั่นทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ที่หดตัวลงยังเป็นผลมาจากบริษัทเอกชนของเยอรมนีชะลออัตราการลงทุนด้านการก่อสร้าง เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรก
แมทเธียส รูบิส นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซแบงค์ เอจี ในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต กล่าวว่า "ตัวเลข GDP ที่ชะลอตัวลงสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของเยอรมนีปรับฐานลงจากไตรมาสแรก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้น ค่าเงินยูโรที่แข็งแกร่ง และอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวลง ยังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีด้วย"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--