ผู้ประกอบการขนส่งยอมปรับลดค่าบริการลง 3-5% ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.นี้เป็นต้นไป หลังราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงอย่างเนื่อง โดยจะคิดค่าขนส่งแบบเฉลี่ยต้นทุนแยกตามประเภทรถบรรทุกที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี) กับน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ
นายทองอยู่ คงขันธ์ เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก เปิดเผยว่า หลังจากราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ เริ่มทยอยปรับลดอัตราค่าขนส่งลงประมาณ 3-5% ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้อัตราค่าขนส่งสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศ
ส่วนกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เปิดโครงการสินเชื่อเอ็นจีวีเพื่อชาติ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกนำรถบรรทุกไปติดตั้งเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะทำให้อัตราค่าขนส่งสินค้าโดยรวมของประเทศลดลงด้วย
ด้านนายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราค่าขนส่งในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ทั้งจากปัจจัยราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และการที่ผู้ประกอบการเริ่มใช้รถบรรทุกที่ติดตั้งระบบเอ็นจีวี ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยมากประมาณ 15,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด 740,000 คัน แต่ผู้ประกอบการรถบรรทุกได้ใช้วิธีการเฉลี่ยต้นทุนของต้นทุนรถบรรทุกที่ใช้ดีเซล กับต้นทุนรถบรรทุกที่ใช้เอ็นจีวี เพื่อกำหนดอัตราค่าขนส่งให้เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ
สำหรับการกำหนดอัตราค่าขนส่งสินค้านั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ค่าขนส่งแบบลอยตัวตามราคาน้ำมัน และ 2.อัตราค่าขนส่งตามตกลงกันระหว่างนายจ้างกับผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งปกติแล้วเมื่อราคาน้ำมันดีเซลลดลงผู้ว่าจ้างก็จะขอปรับลดค่าขนส่งกับผู้ประกอบการรถบรรทุกอยู่แล้ว
ส่วนการใช้เอ็นจีวีกับรถบรรทุกขนาดใหญ่นั้น สหพันธ์ฯ พร้อมผลักดันให้สมาชิกนำรถบรรทุกไปติดตั้งเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวี โดยปัจจุบันสามารถขอเงินกู้จาก ธ.ก.ส.และออมสินได้คันละ 500,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะมีรถบรรทุกที่ใช้เอ็นจีวีเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด
"รถบรรทุกที่ใช้งานอย่างน้อยวันละ 400 กิโลเมตร เมื่อเปลี่ยนใช้ระบบเอ็นจีวีจะมีความคุ้มค่า และเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความสนใจที่จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวี แต่เนื่องจากระบบเอ็นจีวีเป็นระบบใหม่ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการติดตั้งด้วย" นายยู กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--