ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงเกินความคาดหมาย นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวขึ้นและตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงกว่า 130 จุด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 109.76 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 110.08 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0919 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.0971 ดอลลาร์/ปอนด์
ขณะที่ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4768 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.4695 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.8660 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8644 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.7129 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7102 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งขึ้นแตะระดับ 0.8709 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8685 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.2% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 27 ปี ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 0.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2548 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนี PPI เดือนก.ค.พุ่งขึ้นเกินคาดมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น 3.1% และราคาอาหารที่พุ่งขึ้น 0.3%
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไอเอฟอาร์ มาร์เก็ตส์ คาดว่า ดัชนี PPI จะขยายตัวขึ้นเพียง 0.4% และคาดว่าดัชนี PPI พื้นฐานจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2%
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ อเมริกา กล่าวว่า "โดยปกติแล้วค่าเงินดอลลาร์มักได้รับปัจจัยบวกเมื่อตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น เพราะจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พิจารณาเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย แต่ขณะนี้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า หนึ่งในปัจจัยที่กำลังบั่นทอนเศรษฐกิจสหรัฐ"
ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กที่พุ่งขึ้น 1.66 ดอลลาร์ แตะระดับ 114.53 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ได้กระตุ้นนักลงทุนกลุ่มใหม่ๆให้เข้าเทรดในตลาดน้ำมัน
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่ประจำเดือนก.ค.ร่วงลงแตะระดับ 965,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 960,000 ยูนิตต่อปี โดยมาตรการปล่อยกู้ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลง และอัตราการยึดการจำนองที่สูงเป็นประวัติการณ์ ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายบ้าน และทำให้กลุ่มผู้สร้างบ้านยังคงชะลอการลงทุนและลดการใช้จ่าย
ส่วนค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลังจากทางการเยอรมนีเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อจากราคาผู้ผลิตประจำเดือนก.ค.มีการขยายตัวรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2524 ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรปตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีต่อไปแม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม
สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่า ราคาสินค้าตั้งแต่กระดาษหนังสือพิมพ์ไปจนถึงพลาสติกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 8.9% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากที่ขยายตัว 6.7% ในเดือนมิ.ย. โดยก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัว 7.5%
"ราคาพลังงานที่พุ่งสูงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กดดันให้ผู้ผลิตต้องแบ่งภาระดังกล่าวไปยังผู้บริโภค และแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงกว่า 21% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ธนาคารกลางยุโรปยังตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.25% ในเดือนนี้ เนื่องจากเกรงว่าหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้น และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในที่สุด" สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีกล่าว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--