วิลเลียม ทาโนนา นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เลห์แมน บราเธอร์ส จะขาดทุนอย่างหนักถึง 2.5-3.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสสาม และเชื่อว่าการที่ภาคการเงินของสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นได้นั้นยังคงต้องเวลาอีก 2-3 ไตรมาส
นอกจากนี้ ทาโนนายังปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสสามและผลประกอบการตลอดปีพ.ศ.2551 ของเมอร์ริล ลินช์, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และมอร์แกน สแตนลีย์ โดยคาดว่าวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีโดยรวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว และส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งขาดทุนหนักสุดเป็นประวัติการณ์
"วิกฤตการณ์สินเชื่อส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและวาณิชธนกิจระลอกแล้วระลอกเล่า อีกทั้งกดดันให้สถาบันการเงินต้องลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี โดยเฉพาะเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ผมคาดว่าจะต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีมากที่สุดในไตรมาสสาม" ทาโนนากล่าว
ทาโนนาเป็นนักวิเคราะห์คนที่ 2 ที่ออกรายงานเตือนว่าเลห์แมน บราเธอร์ส จะขาดทุนอย่างหนัก โดยก่อนหน้านี้ เคนเน็ธ เวิร์ทธิงตัน นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เตือนว่า เลห์แมนจะขาดทุนหนักถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสสาม
"เราเชื่อว่าฝ่ายบริหารจะต้องเร่งแก้ปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนองและกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา" เวิร์ธธิงตันกล่าว
เมื่อวานนี้ เคนเนธ โรจอฟฟ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า วิกฤติการเงินโลกยังไม่ผ่านพ้นภาวะเลวร้ายที่สุด และเตือนว่าธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐจะล้มละลายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะประสบกับปัญหาต่างๆมากขึ้น
"เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่พ้นจากปัญหา ผมคิดว่าวิกฤติการเงินได้มาถึงครึ่งทางแล้ว เราจะไม่เพียงแต่เห็นธนาคารขนาดกลางหลายแห่งล้มละลายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เราจะเห็นอะไรที่ใหญ่กว่านั้นมาก โดยเราจะเห็นธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่หรือธนาคารยักษ์ใหญ่" นายโรจอฟฟ์ กล่าว โดยปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟในช่วงปี 2001-2004
ความคิดเห็นของโรจอฟฟ์มีขึ้นหลังจากนักลงทุนเทขายหุ้นแฟนนี เม และเฟรดดี แมคเมื่อวานนี้ ภายหลังจากนิตยสารบารอนระบุว่า ถ้าหากแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนครั้งใหม่ ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มทุนด้วยตัวเอง โดยกระทรวงการคลังอาจนำเงินของผู้เสียภาษีมาอัดฉีดให้กับบริษัททั้ง 2 ซึ่งการอัดฉีดเงินทุนโดยรัฐบาลเช่นนี้ถือเป็นมาตรการกึ่งโอนกิจการเป็นของรัฐ ซึ่งจะทำให้หนี้สินของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--