ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าซื้อดอลลาร์ หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะกดดันให้ประเทศอื่นๆรอบนอกสหรัฐ ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับ 109.79 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ระดับ 109.69 เยน/ดอลลาร์ และดีดตัวขึ้นแตะระดับ 1.0985 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0910 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4743 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.4787 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.4743 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4787 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.7113 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7129 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.8722 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8723 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
เจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า "ที่ผ่านมานั้น ประเทศยุโรปและญี่ปุ่นเปิดเผยว่าเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรปและ ธนาคารกลางอังกฤษจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วขึ้น ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเพิ่มความน่าดึงดูดใจให้กับดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันมีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หากไม่มีผลกระทบครั้งใหญ่จากภาคการเงินภายในประเทศ"
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.2% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 27 ปี ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 0.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2548 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนี PPI เดือนก.ค.พุ่งขึ้นเกินคาดมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น 3.1% และราคาอาหารที่พุ่งขึ้น 0.3%
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่ประจำเดือนก.ค.ร่วงลงแตะระดับ 965,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 960,000 ยูนิตต่อปี ทั้งนี้ มาตรการปล่อยกู้ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลง และอัตราการยึดการจำนองที่สูงเป็นประวัติการณ์ ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายบ้าน และทำให้กลุ่มผู้สร้างบ้านยังคงชะลอการลงทุนและลดการใช้จ่าย
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ โดยในวันพฤหัสบดีกระทรวงแรงงานจะเปิดเผยจำนวนชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการในระหว่างว่างงานรายสัปดาห์ สำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด จะเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.ค. และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียจะเปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือนส.ค.
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--