สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย.51 มีจำนวน 3,373,669 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.82% ของ GDP
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ 3,373,669 ล้านบาท แยกออกเป็น หนี้ต่างประเทศ 386,537 ล้านบาท หรือ 11.46% และหนี้ในประเทศ 2,987,132 ล้านบาท หรือ 88.54% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,205,088 ล้านบาท หรือ 95.00% และหนี้ระยะสั้น 168,581 ล้านบาท หรือ 5.00% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
โดยแยกเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,158,780 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 954,824 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 96,115 ล้านบาท, หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 142,981 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 20,969 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะลดลง 26,459 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลง 22,034 ล้านบาท, หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 14,287 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 5,243 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้น 4,619 ล้านบาท ส่วนหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สาเหตุการลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงและหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงลดลงสุทธิ 22,034 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ Japanese yen bond ที่ครบกำหนดจำนวน 48,000 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 15,134 ล้านบาท และการชำระคืนหนี้ในประเทศสำหรับตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนด จำนวน 40,000 ล้านบาท และรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างหนี้ ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดโดยการแปลงเป็นพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 16,000 ล้านบาท รวมทั้งได้ออกตั๋วเงินคลัง จำนวน 12,000 ล้านบาท เพื่อบริหารเงินสด และออกพันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 500 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลงสุทธิ 14,287 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรกองทุนที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน จำนวน 14,000 ล้านบาท
โดยหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 5,243 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ทั้งในส่วนที่รัฐบาลค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน โดยหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,005 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น 4,771 ล้านบาท และหนี้ในประเทศลดลงสุทธิ 2,766 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเคหะแห่งชาติได้ชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะยาว จำนวน 4,800 ล้านบาท และออกพันธบัตร จำนวน 2,000 ล้านบาท
หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 3,238 ล้านบาท รายการ ที่สำคัญเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น 4,556 ล้านบาท และหนี้ในประเทศลดลงสุทธิ 1,318 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้ไถ่ถอนพันธบัตร วงเงิน 358 ล้านบาท และการประปานครหลวง(กปน.)และ บมจ.การบินไทย(THAI) ได้ชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะยาวจำนวน 865 ล้านบาท และ 150 ล้านบาท ตามลำดับ
หนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 4,347 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการออกพันธบัตรของธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงิน 5,000 ล้านบาท และการชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 653 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--