แบงค์พาณิชย์สหรัฐติงพรบ.บัตรเครดิตอาจสร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภค

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 21, 2008 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สมาคมนักการธนาคารอเมริกันในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า พระราชบัญญัติด้านการกำหนดนโยบายของผู้ออกบัตรเครดิตฉบับใหม่ที่ทางสภาคองเกรสกำลังพิจารณาเห็นชอบเพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากกรณีที่ผู้ออกบัตรขึ้นดอกดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกะทันหันนั้น ไม่ได้ช่วยคุ้มครองเงินของผู้บริโภค แต่อาจเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับบรรดาผู้ถือบัตรเครดิตมากกว่า
แฟรงก์ ชาน ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตของซิตี้แบงก์มานานกว่า 20 ปีกล่าวว่า ตนรู้สึกตกใจที่เห็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสองเท่าจากระดับ 13.9% เป็น 28.9% โดยอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บนี้หักจากยอดเงินในบัญชีของเขา
"ผมหงุดหงิดมากที่ถูกบริษัทโกงเงินและสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมไปปิดบัญชีที่ทำไว้กับซิตี้กรุ๊ปทันที" ชานกล่าว ขณะที่ซิตี้กรุ๊ปปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่ยินยอมที่จะยกเลิกการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมา
ธนาคารระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวมิได้มีเป้าหมายที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับใครและจะไม่ส่งผลกระทบกับลูกค้าที่ชำระหนี้เต็มวงเงินและตรงเวลา ขณะที่ทนายความฝ่ายผู้บริโภคกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตควบคุมและหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ได้มากขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนราษฎรระบุให้สถาบันการเงินแจ้งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยแก่ลูกค้าในเวลา 45 วัน และห้ามไม่ให้บริษัทแก้ไขรายละเอียดสัญญาโดยพละการ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ออกบัตรเครดิตทุกรายส่งใบแจ้งหนี้ล่วงหน้า 25 วันก่อนถึงวันครบกำหนดชำระ จากเดิมที่ให้ส่งล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน
สมาคมนักการธนาคารอเมริกันในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต้องรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนของผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า หากผู้ออกบัตรเครดิตไม่สามารถระบุความเสี่ยงของลูกค้าได้ทุกคน"เคน เคลย์ตัน รองประธานอาวุโสฝ่ายกำหนดนโยบายกล่าว
ทั้งนี้ รายงาน G19 ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประจำเดือนมิ.ย.ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของบัตรเครดิตในขณะนี้เรียกเก็บอยู่ที่ 13.5%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ