นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในช่วงไตรมาส 2/51 อยู่ที่ 5.3% ซึ่งส่งผลให้จีดีพีในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.7%
"ปริมาณการส่งออกขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้และยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ" นายอำพน กล่าว
โดยสาเหตุที่จีดีพีในไตรมาส 2 ชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนในภาพรวมชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น
ขณะที่จีดีพีทั้งปี 51 คาดว่าจะโตไม่เกิน 5.2-5.7% จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดไว้ 4.5-5.5% เนื่องจากมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เกิน 2 หลัก หรือไม่เกิน 7% และมีปัจจัยบวกในช่วงครึ่งปีหลังจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาล รวมถึง 6 มาตรการ 6 เดือนฯ รวมถึงการเร่งการลงทุนและการบริโภคในไตรมาส 3 และ 4
"การส่งออกชะลอตัวลงกว่าในครึ่งแรก ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนเอกชนจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์สูง" นายอำพน กล่าว
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังปรับตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/51 จะโต 6.1% จาก 6.0% ที่คาดไว้เมื่อเดือน พ.ค.
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การบริโภคในประเทศขยายตัวเพียง 2.4% ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.6% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวติดลบ ทั้งรายจ่ายประจำขยายตัว -2.4 และรายจ่ายลงทุนขยายตัว -5.2
ภาคการส่งออกสินค้าและบริการยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.3% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 29.3%
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 51 เป็น 5.2-5.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5-5.5% เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และปรับเป้าเงินเฟ้อเป็น 6.5-7.0% จากเดิม 5.3-5.8% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 110-120 ดอลลาร์/บาร์เรล
"แม้ว่าความเสี่ยงอันเกิดจากราคาน้ำมันดิบ อัตราเงินเฟ้อ และการชะลอการใช้จ่ายภายในประเทศจะยังคงมีอยู่ แต่มีความผ่อนคลายมากขึ้น" นายอำพน กล่าว
ด้านมูลค่าการส่งออกคาดว่า ปี 51 จะขยายตัว 16.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 13.3% ส่วนการนำเข้าคาดว่า จะขยายตัว 23.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 22.0% ส่งผลให้ดุลการค้าปี 51 เกินดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจากเดิมที่คาดไว้ว่าเกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดปี 51 คาดจะเกินดุล 7.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 6.0 พันล้านดอลลาร์
โดยในครึ่งปีหลังปริมาณการส่งออกยังมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี ยางพารา เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--