เฟรด ปีเตอร์สัน นักวิเคราะห์ชั้นนำจากสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สันในสหรัฐกล่าวว่า ในอดีตอาจมีการประเมินว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวลงด้วย แต่ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในตลาดโลก
"เราเคยอยู่ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำลง เศรษฐกิจโลกก็จะทรุดตัวลงด้วย แต่ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งเราพบว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆทั่วโลกชะลอตัวลง เศรษฐกิจสหรัฐก็จะทรุดตัวลงต่างหาก อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการค้าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐรอดพ้นจากภาวะถดถอยได้ เพราะการปรับปรุงดุลการค้าให้มีความสมดุลมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อไปได้อย่างน้อยก็ 3 ไตรมาส" ปีเตอร์สันกล่าว
นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า มีปัจจัย 2 อย่างที่จะทำให้น้ำหนักความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยอย่างแรกคือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ผงาดขึ้นมามีบทบาทที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า จีนมีอัตราการขยายตัวในสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ปัจจัยที่สองคือ รูปแบบการค้าที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยการส่งออกเกือบครึ่งหนึ่งของโลกมาจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งประเทศทั้งสองกลุ่มทำให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองในขณะนี้
"ขณะที่บริษัทสหรัฐลดการจ้างงานและหันไปจ้างคนงานในประเทศจีน แต่การจ้างงานในจีนกลับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จีนและประเทศอื่นๆในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกา คิดเป็นวงเงินเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์/ปี ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก" ซาคารี คาราเบลล์ นักวิเคราะห์จากริเวอร์ ทไวส์ รีเสิร์ช กล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--