นักวิชาการ-นักบริหารเงินมองการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)รอบ 27 ส.ค.นี้ น่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม เหตุแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงไปมากจากราคาน้ำมันที่เป็นขาลง จังหวะเดียวกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง มองอัตราดอกเบี้ยที่ 3.50% ขณะนี้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแล้ว
นายธนวรรน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า จากเงินบาทที่อ่อนค่าภายใต้ภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลง จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงไปด้วย และไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้สูงมากจนน่ากังวล ดังนั้น จึงเชื่อว่าปัจจัยนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ กนง.ยังสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์หน้าไว้ได้
ทั้งนี้ ภาวะเงินบาทซึ่งมีทิศทางอ่อนค่าในช่วงนี้จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทยที่เป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
"บาทอ่อนยังช่วยสนับสนุนการส่งออก ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อทำให้บาทแข็ง หรือเพื่อสะกัดกั้นปัญหาเงินเฟ้อ กนง.ยังใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมได้ เราไม่จำเป็นต้องทำค่าเงินบาทให้แข็ง ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับภูมิภาค และไม่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจ กนง.ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อเข้าไปดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน"นายธนวรรธน์ ระบุ
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.50% ถือว่ามีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และกนง.ยังสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้จนถึงสิ้นปี อีกทั้งมองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ 1.50% นั้น ยังคงทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปในระดับปกติ
"มันเป็นส่วนต่าง(อัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ)ที่ไม่ได้เป็นผลกระทบกระเทือน ไม่มีสถานการณ์ที่เงินทุนไหลเข้า-ไหลออก อย่างผิดปกติ สิ่งสำคัญคือไม่ต้องทำอะไรก็ได้ อัตราดอกเบี้ยตอนนี้ยังเหมาะสมอยู่" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากเกิดสถานการณ์พลิกผัน เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนจนกลับมาเป็นขาขึ้นอีก และส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศให้สูงขึ้นตาม เมื่อนั้น กนง.อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ แต่ควรเป็นการทยอยขึ้นคราวละ 0.25%
ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ มองแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าขึ้นและยังมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวน แต่ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจของ กนง.ที่จะประชุมสัปดาห์หน้า โดยเชื่อว่า กนง.ยังคงตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อไป
เนื่องจากขณะนี้เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลออัตราเร่งตัวลงแล้ว หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่าให้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
"เรายังเชื่อว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3.50% แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ระดับสูง แต่ก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันแล้ว หลังราคาน้ำมันปรับลดลง และรัฐบาลก็ต้องการให้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย" นักบริหารเงิน กล่าว
ด้านนายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง ทำให้แรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.มีน้อยลงไปด้วย ซึ่งคาดว่า การประชุม กนง.วันที่ 27 ส.ค.นี้ อาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
และทำให้มีแรงซื้อจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนตลาดตราสารหนี้ลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0-18 bps.ยกเว้นในส่วนของพันธบัตรอายุ 1 เดือนและ 6 เดือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps.ส่งผลให้ดัชนีราคาชนิดไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ(Clean Price) ปรับเพิ่มขึ้น 0.72 จุดหรือ 0.74%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนด ทำให้การลงทุนในตราสารการเงินของสถาบันการเงินชั้นนำต่างประเทศ(Euro Commercial Paper: ECP) ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ โดยเฉพาะผู้ออก ECP ที่เป็นสถาบันการเงินในเอเชีย ความเสี่ยงของการลงทุนใน ECP นั้นก็มีไม่มากนัก เนื่องจาก มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--