นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นในภาพรวมยังไม่กระทบกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจมากนัก เพราะปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจที่สำคัญก่อนหน้านี้คือ เสถียรภาพของรัฐบาลเองที่ยังไม่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐควรดูแลสถานการณ์ไม่ให้ยืดเยื้อ เพราะการชุมนุมในเวลายาวนานจะทำให้ขนาดของกลุ่มผู้ชุมนุมขยายตัวมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการทำงานของภาครัฐและภาคธุรกิจ เพราะการเข้ายึดสถานที่ราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่าเรือสำคัญๆ ของประเทศ สนามบิน กระทรวงการคลัง ก็อาจทำให้การค้าได้รับผลกระทบได้
“แนวทางที่คาดว่าจะเป็นทางออกของปัญหาโดยส่วนตัวมองว่า มี 2 แนวทางคือ แนวทางแรก รัฐบาลประกาศลาออก และปล่อยให้กระบวนทางการกฎหมายสรรหารัฐบาลใหม่ และแนวทางที่สอง พรรคร่วมรัฐบาลอาจจากการร่วมรัฐบาลเพื่อให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ผมไม่ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมองว่า อาจจะจบแล้ว ตอนนี้รัฐบาลน่าจะฟังเสียงของสังคมบ้าง ต้องพิจารณาตัวเอง เพื่อให้สถานการณ์สงบ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อทำให้ปัญหาต่างๆ จบลง ไม่ใช่ผมบอกว่าพันธมิตรทำถูก แต่ตอนนี้มันเป็นเสียงของสังคมแล้วหรือไม่ รัฐบาลต้องคิดใหม่" นายพรศิลป์ กล่าว
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอจับตาดูสถานการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่ต้องการให้ความเห็นใดๆ คาดว่าเมื่อสถานการณ์นิ่งมากขึ้นจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจหรือไม่อย่างไร
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/รัชดา/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--