ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. โดยคณะกรรมการเฟดมีความเห็นร่วมกันว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ยังไม่ระบุวันเวลาที่แน่ชัดว่าจะปรับขึ้นเมื่อใด
รายงานการประชุมเฟดในวันดังกล่าวระบุว่า "แม้คณะกรรมการเฟดมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การจะปรับขึ้นเมื่อใดและเท่าใดนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและความคืบหน้าในตลาดการเงิน อีกทั้งจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ"
รายงานการประชุมระบุว่า คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่วิตกกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อจะยังคงเป็นปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค.พุ่งขึ้น 0.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.4% และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.2%
คณะกรรมการเฟดคาดว่า ตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงปานกลางในปีหน้าหากมีการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วกว่าที่ตลาดการเงินประเมินไว้ ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่กังวลเรื่องเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม แม้เฟดกังวลเรื่องเงินเฟ้อ แต่รายงานการประชุมฉบับนี้บ่งชี้ว่า คณะกรรมการเฟดไม่เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 2.00% อยู่ในระดับต่ำเกินไป
"คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.00% ไม่ถือว่าต่ำเกินไป เฟดตระหนักว่าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น และถูกกระทบจากการที่สถาบันการเงินเพิ่มมาตรฐานการปล่อยกู้ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ในตลาดการเงิน" รายงานการประชุมเฟดระบุ
เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed funds rate) ไว้เท่าเดิมที่ 2.00% และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ที่ 2.25% ซึ่งเป็นมติด้วยคะแนนเสียง 10 ต่อ 1 ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า "คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ แต่เฟดยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเทศอื่นๆที่พุ่งสูงขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้"
"คณะกรรมการเฟดคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะขยายตัวขึ้นอีกในปีนี้และปีหน้า และเงินเฟ้อยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลขเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก หนึ่งในข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่เฟดพิจารณาว่าเป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) เดือนมิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2548 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้น และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.7%" เฟดระบุในแถลงการณ์ภายหลังการประชุม สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน