บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐที่ประสบปัญหา หรือกลุ่ม "problem list" มีจำนวนเพิ่มขึ้น 30% เป็น 117 แห่งในไตรมาสสอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 90 แห่งในไตรมาสแรก และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้น
FDIC ระบุว่า สินทรัพย์ของธนาคารที่ประสบปัญหามีมูลค่ารวม 7.83 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสสอง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ระดับ 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์
เชียลา แบลร์ ประธาน FDIC กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงวอชิงตันว่า "เราคาดว่าจำนวนธนาคารในกลุ่ม 'problem list' จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสถานการณ์ด้านสินเชื่อมาถึงจุดวิกฤตแล้ว"
FDIC ได้เพิ่มชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาด้านสินทรัพย์ สภาพคล่อง และการดำเนินงานที่ไม่ตรงตามกฏข้อบังคับ โดยระบุว่ามีธนาคารล้มละลาย 9 แห่งในปีนี้ รวมถึงธนาคารอินดี้แมค แบงคอร์ป ซึ่ง FDIC เข้าไปยึดกิจการและดำเนินกิจการแทน หลังจากเกิดเหตุการณ์ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคารแห่งนี้เป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 11 วันทำการ ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น อินดี้แมค เฟดเดอรัล แบงค์ เอฟเอสบี
"ผลประกอบการไตรมาสสองของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น สถานการณ์เช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าสถาบันการเงินในสหรัฐมาถึงจุดที่วิกฤตที่สุด และคาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นในเร็วๆนี้แน่" แบลร์กล่าว
การล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดของธนาคารสหรัฐเกิดขึ้นในเดือนพ.ค.ปีพ.ศ.2527 เมื่อธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ เนชั่นแนล แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ โค.ในชิคาโกล้มละลาย ส่วนอินดีแมคนั้นมีขนาดใกล้เคียงกับธนาคารอเมริกัน เซฟวิงส์แอนด์ โลน แอสโซซิเอชัน ออฟ สต็อกตัน แคลิฟอร์เนีย ซึ่งล้มละลายในเดือนก.ย.ปีพ.ศ.2531
ในช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา FDIC ได้ออกหนังสือชี้นำที่ระบุว่า นักลงทุนควรทำเช่นใดในการทวงหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม ถ้าหากธนาคารผู้ออกตราสารประสบภาวะล้มละลาย ขณะที่กระทรวงการคลังได้จัดทำชุดหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดออกมา โดยหวังว่าการทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาในตลาดเงิน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน