คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ (27 ส.ค.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน 0.25% จาก 3.50% มาที่ 3.75%ต่อปี เนื่องจากคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อยังสูง เพราะราคาน้ำมันยังมีความไม่แน่นอน โดยเงินเฟ้อในอีก 8 ไตรมาสข้างหน้ายังมีความเสี่ยงจะอยู่นอกกรอบของ ธปท.
ส่วนเรื่องการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวานนี้ไม่ได้เอามาเป็นประเด็น เพราะมองเป็นเรื่องระยะสั้นมากกว่า ซึ่งม็อบ สถานการณ์ยังไม่นำไปสู่ความรุนแรงจนกระทบความเชื่อมั่น แต่ต้องติดตาม
น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุม กนง.ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม ประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด
โดยในช่วงครึ่งหลังของปีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงต้องระมัดระวัง แม้ว่าการส่งออกยังดีอยู่ แต่ขึ้นกับเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงบ้างเล็กน้อย แต่การส่งออกของไทย สินค้าหลายตัวยังสามารถส่งไปแข่งขันได้
ขณะที่ความต้องการในประเทศยังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากอุปสงค์และความเชื่อมั่นในไตรมาส 2 แผ่วลงโดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐ แม้ว่าแนวโน้มขยายต่อไปได้ แต่ไม่แรงมาก
นอกจากนี้ ยังให้ความเป็นห่วงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบมาก โดยดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน ณ สิ้นเดือน ก.ค. -4.8% ดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริง -2% ดังนั้นนโยบายการเงินยังผ่อนคลาย เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
"ภาพการออมในประเทศยังต่ำ น่าเป็นห่วง เพราะประเทศที่เจริญควรอาศัยเงินออมในประเทศด้วยไม่ใช่อาศัยเงินกู้อย่างเดียว" น.ส.ดวงมณี กล่าว
แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลงและมาตรการช่วยเหลือของทางการจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไป แต่จากการที่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันและเงินเฟ้อคาดการณ์(inflation expectations) ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมถึงความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯจึงประเมินว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป