ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบเยน หลังสหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนแกร่งเกินคาด

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 28, 2008 07:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อคงทนที่แข็งแกร่งเกินคาด อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและสกุลเงินหลักๆ หลังจากเจ้าหน้าที่ยุโรปแสดงความเห็นว่าธนาคารกลางยุโรปควรขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในเขตยูโรโซน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 109.62 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 109.58 เยน/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินฟรังค์สวิสที่ 1.0968 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0992 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.4720 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.4649 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.8345 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8394 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.7010 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6968 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.8579 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8550 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
เจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซีมาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.3%เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นผลมาจากยอดสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน/ไอเอฟอาร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1%
"ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่พุ่งขึ้นเกินความคาดหมายสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้ดี และช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลได้บ้าง อย่างไรก็ตามการที่ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันช่วงขาขึ้นของดอลลาร์" ฮิวจ์กล่าว
ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้น 1.88 ดอลลาร์ แตะระดับ 118.15 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ เนื่องจากความกังวลที่ว่าพายุโซนร้อน"กุสตาฟ"จะสร้างความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าสในอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นแหล่งการผลิตน้ำมันที่สำคัญของสหรัฐ
นิตยสารสเติร์น รายงานโดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของรมว.เศรษฐกิจเยอรมนีว่า "หากประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเยอรมนีมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลง และรัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด"
เศรษฐกิจเยอรมนีในไตรมาสที่สองชะลอตัวลง 0.5% จากไตรมาสแรก ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ตัวเลข GDP ของเยอรมนีปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2547

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ