นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า จากเหตุผลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังกังวลกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งแม้การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ผู้ออมเงินได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ สศค.มองว่าผู้กู้โดยเฉพาะประชาชนที่มีภาระสินทรัพย์ต่างๆ ต้องมีภาระการผ่อนชำระสูงขึ้นเช่นกัน
ส่วนผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะไตรมาสแรกปีนี้ การบริโภคและการลงทุนขยายตัวอย่างชัดเจนมาก ส่วนไตรมาส 2 มีการขยายตัวในอัตราลดลง และไตรมาส 3 ในเดือน ก.ค.เริ่มมีทิศทางการขยายตัวที่ดีขึ้นอีก
"ช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ กนง. ประชาชนก็บ่นว่ามีปัญหา โดยเฉพาะผู้มีรายได้ปกติ เพราะดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็ต้องมีภาระผ่อนหนี้เงินกู้สูงขึ้นตาม" นางพรรณี ระบุ
นางพรรณี กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นมาจากต้นทุนราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ดังนั้นหากต้องการให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ ดอกเบี้ยจึงไม่ควรอยู่ในระดับที่สูง เพราะแม้ผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นก็จริง แต่ต้องมาพิจารณาด้วยว่าผู้ฝากเงินมีหลายระดับ แต่ระดับที่จะได้ประโยชน์ซึ่งเป็นสัดส่วนของผู้มีรายได้น้อยกับผู้ที่มีรายได้มากอันไหนจะมากกว่ากัน
ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้ อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา ทั้งเงินกู้และเงินฝาก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะทำให้การปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงมากน้อยเพียงใด
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--