สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปี 51-52 รอบใหม่ในเดือน ก.ย.โดยจะนำผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นปัจจัยการเมืองมาพิจารณาประกอบด้วย รวมทั้งการประเมินผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"6 มาตรการ 6 เดือน"หลังจากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นได้ราว 0.2%
เดิม สศค.คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปีนี้อยู่ในช่วง 5.0-6.0% หรือเฉลี่ยที่ 5.6%
“ขณะนี้ สศค.ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เนื่องจากยังไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรง ซึ่งเท่าที่ได้พบปะนักลงทุนต่างประเทศ ต่างสงสัยว่าประเทศไทยต้องการอะไร เพราะอีกฝ่ายไล่รัฐบาล แต่เมื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ได้พวกเดิมกลับมาอีก ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า เป็นต้นทุนของประเทศ ที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความชัดเจนและลดความขัดแย้ง" นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
นางพรรณี กล่าวต่อว่า สศค.ได้ประเมินผลของ 6 มาตรการ 6 เดือน ต่อการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ และผลต่อการกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ หลังประกาศใช้เมื่อ 15 ก.ค. จนถึงขณะนี้ พบว่าหลังการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทำให้ปี 2551 อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ 6.9% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 7.2% และการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.2% จาก 5.6% เป็น 5.8%
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3/51จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ที่ 9.1% เหลือ 8.4% และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 5.4% เป็น 5.6% ส่วนในไตรมาส 4 /51 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงจาก 8.7% เหลือ 6.5% แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงที่ประมาณการเดิม 5.7%
อย่างไรก็ตาม สมมติฐานดังกล่าวประเมินที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 124 ดอลลาร์/บาร์เรลไปจนถึงสิ้นปี และน้ำมันดีเซล เหลือ 38.50 บาท/ลิตร แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินแนวโน้มอีกครั้ง
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--