อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยหลังคณะกรรมาธิการยุโรปออกประกาศระบบการขออนุญาตนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรใหม่ภายใต้นโยบายเกษตรร่วมสหภาพยุโรป(อียู) ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรของไทยหลายรายการที่ไม่ต้องขออนุญาต เนื่องจากมีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนดไว้
"การประกาศดังกล่าวเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าเกษตรไปยังอียู เพราะเป็นการลดขั้นตอนการนำเข้าและลดภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออก" นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อียูยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอาหารเป็นอย่างมาก โดยจะตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรระมัดระวัง และให้ความสนใจเกี่ยวกับมาตรการการนำเข้าต่างๆ ของอียูให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับสินค้าเกษตรที่ต้องขออนุญาตนำเข้าและส่งออกลดลงเหลือ 108 รายการจากกว่า 500 รายการ แบ่งเป็น สินค้าที่ยังคงต้องขอใบอนุญาตนำเข้า 65 รายการ และขอใบอนุญาตส่งออก 43 รายการ ส่วนที่เหลืออีก 392 รายการ หากมีปริมาณไม่เกินที่กำหนด ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าและส่งออก
โดยสินค้าเกษตรที่ได้รับสิทธิดังกล่าว ได้แก่ ธัญพืชบางรายการ เช่น มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น, น้ำมันมะกอก, ผัก, ผลไม้สดและแปรรูป, เนื้อวัว, เนื้อลูกวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนื้อหมู, เนื้อปศุสัตว์, ไข่, นมและผลิตภัณฑ์ และเอธิลแอลกอฮอล์ ที่มีแหล่งกำเนิดจากเกษตรกรรม มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนไวน์มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.51 ข้าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.51 และน้ำตาลบางรายการมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.51
นางอภิรดี กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทปา) ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.50 จนถึงขณะนี้ กรมฯได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าไปแล้วกว่า 75,000 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิเจเทปา 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 55% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่มีการลดภาษีให้ไทย โดยสินค้าที่ใช้สิทธิสูง ได้แก่ เนื้อไก่ปรุงแต่ง, เนื้อปลาสดแช่เย็น-แช่แข็ง, กุ้งปรุงแต่ง, โพลิอะซีทัล เดกซ์ทริน และแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--