นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางน่านน้ำอ่าวไทยระหว่างไทยและกัมพูชาว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศสัปดาห์หน้า เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในน่านน้ำอ่าวไทย ซึ่งมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน เป็นต้น โดยปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชายังไม่ยินยอมให้ภาคเอกชนรายใดเข้าไปทำการขุดเจาะสำรวจจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะตกลงเรื่องเขตแดนหรือผลประโยชน์ระหว่างกันได้
อย่างไรก็ตามพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาในน่านน้ำอ่าวไทยนั้น ทั้งสองฝ่ายเคยลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน(เอ็มโอยู) ตั้งแต่ปี 2544 โดยระบุข้อตกลง 2 ข้อ คือ พื้นที่ตอนบนของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ให้มีการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจน และ พื้นที่ตอนล่างของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ให้มีการเจรจาเพื่อพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน
ทั้งนี้ให้ดำเนินการทั้งสองข้อควบคู่กันไปโดยไม่มีการแบ่งแยก และให้ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา เป็นกรอบการเจรจาเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
สำหรับคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชานั้นได้มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นรองประธาน แต่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปในการแบ่งเขตแดนหรือข้อตกลงระหว่างกัน และทิ้งปัญหาไว้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศว่าจะยืนยันดำเนินการตามบันทึกเอ็มโอยูเดิมต่อไปหรือไม่ และหากดำเนินการต่อจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อเป็นกรอบในการทำงานต่อไปหรือไม่ เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรณีปราสาทเขาพระวิหาร
นายไกรฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยเสนอให้แบ่งปันผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนตอนล่างด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ผลประโยชน์เป็น 3 ส่วนตามยาวของพื้นที่ โดยเป็นของฝ่ายไทย 1 ส่วน กัมพูชา 1 ส่วน และส่วนกลางจัดแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้หากมีการพบแหล่งพลังงานในพื้นที่ใกล้ประเทศใด ประเทศนั้นจะได้ผลประโยชน์ไป 90% และให้อีกประเทศ 10% ขณะที่กัมพูชาเห็นว่าควรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่าง 60% กับ 40% ดังนั้นต้องเร่งหาข้อตกลงกันต่อไป
"ทางกัมพูชาไม่ต้องการให้มีการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจน แต่ต้องการให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันเท่านั้น ซึ่งไทยมองว่าอาจเกิดปัญหาด้านเขตแดนและผลประโยชน์ในอนาคตได้จึงต้องการให้แบ่งปันเขตแดนก่อน ทั้งนี้หากตกลงกันไม่ได้และต้องการที่จะให้ศาลโลกเป็นผู้ตัดสินผมก็ว่าดี เพราะปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนจะได้จบเร็วและง่าย ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องระหว่างกันต่อไปด้วย" นายไกรฤทธิ์ กล่าว
แหล่งข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนตอนบนนั้น กัมพูชาได้ยึดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส โดยกำหนดเขตแดนเข้ามายังเกาะกูดของประเทศไทยด้วย ซึ่งไทยยอมรับไม่ได้ และต้องการให้กำหนดเขตแดนน่านน้ำใหม่ที่ชัดเจนและไม่เข้ามายังเกาะกูดของไทย
อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้ต้องการให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศเหมือนกรณีเขาพระวิหาร แต่ปัจจุบันปัญหาด้านพลังงานรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยได้จะช่วยให้มีการนำทรัพยากรพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากอ่าวไทยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้มาก
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/เสาวลักษณ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--