RBS คาดตัวเลขขาดดุลบัญชีมาเลเซียกดดันริงกิตอ่อนค่า-กระทบอันดับเครดิต

ข่าวต่างประเทศ Monday September 1, 2008 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ กรุ๊ป พีแอลซี เปิดเผยว่า มาเลเซียอาจรายงานยอดขาดดุลบัญชีที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินริงกิตของมาเลเซียและสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มอันดับเครดิตในประเทศ
ซานเจย์ มาเธอร์ นักวิเคราะห์จากธนาคาร RBS ในสิงคโปร์เปิดเผยว่า รัฐบาลอาจรายงานตัวเลขขาดดุลที่ลดน้อยลง ขณะที่นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวีกำลังพิจารณาตรึงราคาน้ำมันในอัตราเฉลี่ยเท่าเดิมที่ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า ทั้งนี้ มาเลเซียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพื่อชดเชยภาวะขาดทุนจากการเรียกเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในอัตราต่ำและภาษีนำเข้าสินค้าผู้บริโภค
"ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอาจสร้างปัญหาต่อตัวเลขดุลบัญชี"มาเธอร์และวิลสันระบุ "ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ทางการรักษาตัวเลขดุลบัญชีตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ยาก"
ทั้งนี้ RBS กล่าวว่า เงินริงกิตอาจดิ่งลง 3.5 ต่อดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ในก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2550 โดยชี้ว่า มาตรการทางการเงินที่จะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคประกอบการนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนของมาเลเซียจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเงินริงกิต
ด้านกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลบัญชีอาจปรับตัวลดลงแตะที่ 3.6% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในปี 2551 จากระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 4.8% ในปีนี้ โดยรัฐบาลตั้งเป้ารายได้ว่าจะเพิ่มขึ้น 9.1% แตะที่ระดับ 1.762 แสนล้านริงกิต (5.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมียอดใช้จ่ายทั้งสิ้นเพิ่มขึ้น 3.8% แตะระดับ 2.047 แสนล้านริงกิต
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในเดือนส.ค. เงินริงกิตอ่อนค่าลง 4.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มาเลเซียประกาศยกเลิกนโยบายผูกติดค่าเงินดอลลาร์ในเดือนก.ค.2548 โดยในวันที่ 29 ส.ค.ค่าเงินริงกิตเทรดที่ 3.394 ต่อดอลลาร์ โดยธนาคารกลางมาเลเซียได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นที่ 3.5% เป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2549 แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนก.ค.จะพุ่งสูงสุดในรอบ 27 ปีแตะที่ 8.5% แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ RBS กล่าวว่าสถาบันจัดอันดับฟิทช์ เรทติ้งอาจปรับลดแนวโน้มเครคิตของมาเลเซียลงมาอยู่ที่ระดับ `stable' จากระดับ `positive' ในเร็วๆนี้ เนื่องจากมาเลเซียไม่สามารถฟื้นฟูตัวเลขดุลบัญชีที่อาจสร้างความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือในระยะกลางได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ