(เพิ่มเติม) สมาชิกสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ 13 องค์กรไม่ร่วมหยุดงานตามมติ สรส.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2008 19:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ปตท.ในฐานะประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย(สพรท.) กล่าวว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ 13 แห่งที่เป็นสมาชิกของ สพรท.ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และยังคงปฏิบัติงานตามปกติ ไม่ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 3 ก.ย.นี้ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) มีมติออกมาเมื่อช่วงบ่ายนี้
ทั้งนี้ สพรท.มีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเรื่องปัญหาแรงงานเป็นสำคัญ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะหากต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองก็ควรไปสมัครเป็นนักการเมืองโดยตรงน่าจะดีกว่า
สำหรับสมาชิก สพรท.เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ(สร.) 13 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.), บมจ.อสมท(MCOT), บริษัท ไปรษณีย์ไทย, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย, สถาบันการบินพลเรือน, องค์การสะพานปลา, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, บมจ.ทีโอที เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนพนักงานที่เป็นสมาชิกของ สร.ไม่เกิน 1 แสนคนจากจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเกือบ 5 แสนคนจาก 60 องค์กร ขณะที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) มีสมาชิกเป็น สร. 43 แห่ง ซึ่งมีจำนวนสมาชิกของ สร.ราว 2 แสนคน
ขณะที่ นายธีรพงษ์ กฤษฎาธีระ รองประธาน สร.ปตท.ในฐานะโฆษก สพรท.เชื่อว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นสมาชิกของ สรส.ทุกคนไม่ได้เห็นด้วยกับกรณีที่มีมติให้หยุดงาน เพราะมติดังกล่าวไม่ใช่แค่ส่งกระทบต่อประชาชนเท่านั้นแต่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
"เราจะใช้ไม่ใช้ไม่รู้ ทุกเดือนเก็บค่ารักษามิเตอร์และยังเก็บค่ามัดจำมิเตอร์ ถ้าประชาชนได้รับผลกระทบก็สามารถไปฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายได้"นายธีรพงษ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายธีรพงษ์ กล่าวว่า การที่ สรส.มีมติออกเช่นนี้จะเป็นผลเสียต่อองค์กร เพราะก่อนหน้านี้ออกมาประกาศที่จะปกป้องรักษาองค์กรไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่กลับมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยอ้างสิทธิ์ที่จะหยุดงานแต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ด้วย เพราะประชาชนไม่ได้มีหลักประกันอะไรที่จะเข้ามาคุ้มครอง
"คุณเคยบอกว่าแปรรูปไม่ดี คนอื่นจะเข้ามาทำก็ตีกันไว้ แต่คุณทำกันอย่างนี้ทำให้ประชาชนเอือมระอากับการทำงานอย่างนี้" นายะรพงษ์ กล่าว
โฆษก สพรท.กล่าวว่า หากพนักงานรัฐวิสาหกิจที่หยุดงานหรือเฉื่อยงานโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาเกี่ยวกับสภาพการจ้างถือเป็นความผิดตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบด้าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ