ผู้ว่าการธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์นานาชาติเผย วิกฤตสินเชื่อในสหรัฐยังไม่ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด ในขณะเดียวกันราคาอาหารก็ยังไม่พุ่งถึงจุดสูงสุด ส่งผลให้สถานการณ์ความผันผวนในตลาดเงินจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะกลาง
"มีแนวโน้มว่าตลาดเงินจะยังผันผวนต่อไปในอีกระยะเวลาหนึ่ง และยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าสภาพการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร" ลูคัส ปาปาเดมอส รองประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวในการประชุมที่บัวโนส ไอเรส ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วม
แรนดัลล์ โครสเนอร์ ผู้ว่าการบอร์ดธนาคารกลางสหรัฐกล่าวว่า การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นช่องทางที่ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐแพร่กระจายไปทั่วโลก แม้แต่ในประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เคยคิดว่าจะหลุดพ้นจากผลกระทบดังกล่าวก็ตาม
ความสูญเสียจากวิกฤตซับไพร์มส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง กดดันให้ธนาคารกลางต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นก็หนุนให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง จนทำให้การขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยากขึ้น
เดอร์มัส ยิลมาซ ประธานธนาคารกลางตุรกีคาดการณ์ว่า ราคาอาหารจะยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยเมื่อปี 2550 ราคาอาหารที่สูงขึ้นมีสัดส่วนถึง 70% ของอัตราเงินเฟ้อทั้งหมดในตุรกี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปี 2549
มาร์ติน เรดราโด ประธานธนาคารกลางอาร์เจนติน่า กล่าวว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่อาร์เจนติน่าเก็บสะสมมาตั้งแต่ปี 2544 จะช่วยให้ประเทศสามารถต้านทางผลกระทบจากเศรษฐกิจจากต่างประเทศได้
"อย่างไรก็ตาม ตลาดเงินจะลดความผันผวนลงก็ต่อเมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงสู่จุดต่ำสุดและดีดตัวขึ้น" สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--