ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงกว่า 5 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้นักลงทุนจำนวนมากย้ายฐานการลงทุนออกจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และหันเข้าเทรดในตลาดปริวรรตเงินตรา ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงอย่างหนักหลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 108.75 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 108.04 เยน/ดอลลาร์ และทะยานขึ้นแตะระดับ 1.1064 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1013 ฟรังค์/ดอลลาร์ (เหตุที่ต้องเทียบกับระดับของวันศุกร์เพราะตลาดการเงินสหรัฐปิดทำการวันจันทร์ที่ 1 ก.ย. เนื่องในวันแรงงาน)
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4515 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.4604 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.7831 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8005 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.6876 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 0.6951 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.8387 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8494 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ อเมริกา กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 105.46 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าพายุกุสตาฟไม่ได้สร้างความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าสธรรมชาติในเขตกัลฟ์โคสต์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนหลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 7% เมื่อวานนี้ โดยยอดค้าปลีกที่ดิ่งลงหนักที่สุดในรอบ 6 ปี ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่แผ่วลง รวมถึงข้อมูลในตลาดแรงงานที่ซบเซาล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันให้นายเกลน สตีเฟน ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย และก่อนหน้านี้นายสตีเฟนได้ส่งสัญญาไว้ก่อนแล้วว่า ธนาคารกลางอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย
นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะมีคืนในช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ย. โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอีซีบีจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 4.25% แม้เศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลงอย่างหนักในไตรมาส 2 และหลายประเทศกดดันให้อีซีบีขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
อัลริช คัทซ์ นักวิเคราะห์จาก Pacific Investment Management Co. กล่าวว่า อีซีบีปฏิเสธที่จะลดดอกเบี้ยหลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งเสี่ยงที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยลง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดการณ์ว่า อีซีบีจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในช่วงต้นปีหน้า หลังจากนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานอีซีบีกล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงจนถึงไตรมาส 3
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--