นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นและบานปลายจนถึงล่าสุดขณะนี้ พบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศของภาครัฐให้ปรับเพิ่มไปแล้ว 0.4% จากเดิมต้นทุนซึ่งอยู่ที่ Libor+1% เพิ่มขึ้นเป็น Libor+1.4% ทันที
ดังนั้นจึงสะท้อนว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการกู้เงินมีเพียงความกังวลจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ เท่านั้นที่ทำให้ต้นทุนการกู้เงินอยู่ที่ 0.7-0.8%
"หลังจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ต้นทุนการกู้เงินกระโดดไป 0.4% สะท้อนว่าเมื่อเกิดวิกฤต ตลาดมองว่าไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งไม่ต้องพูดถึงภาคเอกชนที่จะกู้เงินต่างประเทศ อาจทำให้ตลาดกู้เงินต่างประเทศของบริษัทเอกชนปิดไปเลย ยกเว้นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปตท. ที่อาจจะกู้เงินได้บ้าง"นายพงษ์ภาณุ ระบุ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังมีแหล่งเงินกู้ระหว่างประเทศ ทั้งธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิก),ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) เพื่อกู้เงินไว้ใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากการลงทุนภาครัฐมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ภาครัฐไม่เคยมีการลงทุนขนาดใหญ่มาเป็นเวลานาน
นายพงษ์ภาณุ ยอมรับว่า มีความกังวลจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือทั้งมูดี้ส์ ฟิชท์เรทติ้ง หรือ เอสแอนด์พี อาจปรับเครดิตเรทติ้งประเทศไทยลงได้อีกจาก BBB/outlook stable ซึ่งหากมีการปรับลดเครดิตลงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของไทยอย่างมาก
ปัจจุบัน เจบิกจะให้กู้เงินแก่ทางการไทยโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1.4%ต่อปี ขณะที่ธนาคารโลกคิด Libor -0.6%
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--