ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลด้านการผลิตที่แข็งแกร่งเกินคาด และหลังจากสหภาพยุโรประบุว่าภาวะเศรษฐกิจในยุโรปอ่อนแอลงมาก นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกปัจจัยที่หนุนดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4502 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.4515 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง 1.7772 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.7820 ดอลลาร์/ปอนด์
แต่ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 108.17 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 108.64 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินฟรังค์สวิสที่ 1.1044 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1062 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.6834 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6865 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.8353 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8373 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ยอดสั่งซื้อของโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศปรับตัวขึ้น 1.3% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียล/ไอเอฟอาร์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.8% นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปยืนยันว่า เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสสอง พร้อมกับประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรปลงสู่ระดับ 1.4%ต่อปี จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.5%ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเยนและฟรังค์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงาน Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจทั่วสหรัฐ ว่า ภาคธุรกิจทั่วประเทศชะลอตัวลง และตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคปรับตัวลดลงด้วย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐในเดือนก.ค.ขยายตัวขึ้นเพียง 0.2% หลังจากพุ่งขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน ร่วงลง 0.7% ในเดือนก.ค. ซึ่งร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีพ.ศ.2548
ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง
แซล กูทิเยร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท BMO Capital Markets กล่าวว่า สหรัฐต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นรุนแรงและมูลค่าบ้านที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้ชาวอเมริกันลดการซื้อสินค้ารายการใหญ่ อาทิ รถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังนำเช็คเงินคืนภาษีที่ได้จากรัฐบาลมาใช้หมดแล้ว และไม่ต้องการนำเงินของตนเองของมาใช้ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) ประจำเดือนส.ค.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนส.ค.สหรัฐจะร่วงลง 75,000 อัตรา ซึ่งจะเป็นสถิติที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และคาดว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะทรุดตัวลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมาก
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--