นักวิเคราะห์คาดแบงก์ชาติอินโดนีเซียขึ้นดบ. 0.25% สู่ 9.25% ในที่ประชุมวันนี้

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 4, 2008 08:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี
ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ที่จัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า นายโบดิโอโน ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียและเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 9.25% ในที่ประชุมวันนี้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวดีเกินคาดในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ จากอานิสงส์ของยอดส่งออกน้ำมันปาล์มและถ่านหินไปต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจช่วยให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายคลายความวิตกกังวลที่ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
โดยยอดส่งออกสินค้าไปต่างประเทศพุ่งสูงขึ้น 25.5% ในเดือนก.ค.จากปีก่อนหน้านี้แตะที่ 1.255 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับระดับที่เพิ่มขึ้น 34.9% ในเดือนก่อนหน้านี้
"การบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไร้แรงกดดัน" เอนริโก ทานูวิดจาจา นักวิเคราะห์จากโอเวอร์ซีย์ ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป กล่าว "รัฐบาลยังคงควบคุมความเคลื่อนไหวของเงินรูเปียห์อย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้เริ่มปรับตัวลดลง"
ทั้งนี้ ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลง 1.3% ในเดือนที่ผ่านมาอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยและกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถือครองสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินอินโดนีเซีย โดยเมื่อวานนี้ เงินรูเปียห์ขยับขึ้น 0.1% แตะมรา 9,207 ต่อดอลลาร์
ราคาผู้บริโภคเดือนที่ผ่านมาพุ่งขึ้น 11.85% จากปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่ขยายตัว 11.9% ในเดือนก.ค. ขณะที่ราคาผู้ผลิตเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปีแตะที่ 31.7% ในเดือนมิ.ย.
ขณะที่นายฮาร์ทาดี ซาร์โวโน รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า อัตราดอกเบี้ยที่ 9.5% เป็นระดับที่เหมาะสมที่จะควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 6.5-7.5% ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่สิ้นสุดไตรมาสที่สองอาจทำให้เศรษฐกิชะลอตัวลง โดยราคาน้ำมันปาล์มล่วงหน้าดิ่งลง 44% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,486 ริงกิตต่อเมตริกตันในเดือนมี.ค. ท่ามกลางความวิตกกังวลที่ว่าปริมาณผลผลิตในตลาดโลกมีมากกว่าความต้องการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ