สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียจะอ่อนค่าลงนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2551 เนื่องจากยอดขาดดุลบัญชีที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความวุ่นวายทางการเมือง และการใช้นโยบายเงินเฟ้อที่ล่าช้าจนส่งผลให้นักลงทุนปลีกตัวออกนอกตลาด
อาริฟฟ์ คารีม ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมาเลเซียเปิดเผยว่า เงินริงกิตมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแตะที่ 3.5 ต่อดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีของมาเลเซียจะขยายตัวขึ้นแตะระดับ 3.45 หมื่นล้านริงกิต (1.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี คิดเป็น 4.8% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) เนื่องจากรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนอาหารและน้ำมันเพิ่มขึ้น 3 เท่า ขณะที่ในสัปดาห์นี้เงินริงกิตอ่อนค่าลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบปี
"ตัวเลขขาดดุลที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการงบการเงินได้ดีพอ" อาริฟฟ์กล่าว "เงินริงกิตแทบจะอยู่ในสภาวะย่ำแย่ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล"
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาห์มัด บาดาวี ของมาเลเซียกำลังพิจารณาตรึงราคาน้ำมันเฉลี่ยไว้ที่ 125 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2552 เพื่อกระตุ้นรายได้ของประเทศให้เพิ่มขึ้น 9.1% แตะที่ระดับ 1.762 แสนล้านริงกิต และหวังที่จะลดยอดขาดดุลให้ลงมาอยู่ที่ 3.6% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 09.20 น. ตามเวลาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เงินริงกิตอ่อนค่าลงแตะที่ 3.4215 ต่อดอลลาร์จากระดับ 3.3875 ต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่รัฐบาลประกาศแถลงการณ์ดุลบัญชีซึ่งระบุว่าการปรับลดภาษี เงินโบนัสพนักงานรัฐบาล และยกเลิกการเก็บค่าไฟฟ้าในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ
"ความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับมุมมองที่มีต่อผู้นำประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้บั่นทอนความต้องการซื้อสินทรัพย์ของนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้อันดับเครดิตของประเทศได้รับผลกระทบตามมา" อาริฟฟ์กล่าว
ทั้งนี้ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของมาเลเซียขยายตัวต่ำสุดในรอบปีที่ 6.3% ในไตรมาสที่สอง ขณะที่รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 5.7% ในปีนี้ และ 5.4% ในปีหน้าจากระดับที่ขยายตัว 6.3% ในปี 2550
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--