แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่าจะเสนอแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 ซึ่งจะเสนอต่อรมว.คลังในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. เพื่อเสนอรมว.คลังให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 52
ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ จะเน้นในเรื่องของการลดต้นทุนให้สถาบันการเงิน การลดอุปสรรคและกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็น และเน้นในเรื่องดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินมากขึ้น
โครงสร้างหลักๆ ของแผนแม่บทฯ จะเน้นดูแลให้สถาบันการเงินของไทยยังมีอยู่ 60% ของสินทรัพย์ทั้งระบบ และจะมีการเปิดใบอนุญาตใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยจะเน้นในส่วนที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานในภาคสถาบันการเงินมากขึ้น เช่น การมี Morgage Insurance มีระบบการค้ำประกันสินเชื่อ มีการปรับปรุงระบบเครดิตบูโร
นอกจากนี้ แผนแม่บทฯ ดังกล่าวจะมีผลให้สถาบันการเงินในประเทศเกิดการควบรวมกิจการกันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังมีกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก และ Basel II ทำให้ภาคสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินขนาดเล็กจะต้องมีการปรับตัว และวางกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น เสริมสร้างฐานะให้กับสถาบันการเงินของตัวเอง
"บริษัทเงินทุนมีโอกาสมากที่สุดที่จะมีการควบรวมกิจการเนื่องจากปัจจุบัน บง.ส่วนใหญ่จะมีการรับฝากเงินจากลูกค้าน้อย แต่จะเน้นสินเชื่อ เช่น ลิสซิ่ง จึงมีความเสี่ยงและการเป็นสถาบันการเงินขนาดเล็ก อาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ดังนั้น กฎระเบียบต่างๆที่ออกมาจะเน้นดูแลสถาบันการเงินขนาดเล็กมากขึ้น"แหล่งข่าว ธปท. กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--