นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อาจจะมีการนำการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาใช้แทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยตามความเห็นของธปท. การบริหารนโยบายการเงินโดยใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั้งสองประเภทให้ผลใกล้เคียงกัน การเลือกตัวใดตัวหนึ่งมาไม่น่าจะมีความแตกต่างกันมาก
อย่างไรก็ตามคงต้องมาดูประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง หลังจากได้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดใหม่ที่กำลังจะแต่งตั้งจะเป็นผู้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่น ตามนโยบายของรมว.คลัง
หลังจากที่คณะกรรมการ ธปท.ชุดใหม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วคงจะมีการแต่งตั้งกนง.ชุดใหม่ในช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยธปท.จะเข้าไปชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้กับกนง.ทราบ รวมถึงเรื่องนี้ด้วย
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "นโยบายการเงินในโลกที่ผันผวน : ความท้าทายและกลยุทธ์ตั้งรับ"ว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังประสบปัญหา 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้อสูง เป็นผลจากการดำเนินโยบายที่ผ่อนคลายของโลก สถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรปอยู่ในภาวะฟองสบู่ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวในช่วงต่อไป ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยกระทบและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยได้
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจึงเน้นดูแลใน 3 ด้านเป็นหลัก ประกอบด้วย การดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้มีปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมาก โดยเฉพาะจากปัญหาราคาน้ำมัน การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน โดยการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลกที่เสรีได้ทำให้ราคาสินทรัพย์แต่ละประเทศปรับสูงขึ้น มีการคิดค้นนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ รองรับเงินทุนจากต่างประเทศ เช่น CDO จนกลายเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ ได้ และ การดูแลสถาบันการเงิน ที่ต้องมีความระมัดระวัง ไม่ให้ความเสี่ยงจากนอกประเทศ กระทบในประเทศ
ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ธปท.มีเครื่องมือที่จะดูแล โดยกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 0-3.5% เพื่อให้แน่ใจว่าเงินเฟ้อไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และขณะนี้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ เพราะถือว่ายังมีต้นทุนต่ำ ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ แต่แม้เงินเฟ้อที่ลดลง ธปท.ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันกำหนดนโยบายทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ที่สุด ธปท.จะต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบาย นอกจากนี้ ตัวกรรมการธปท.จะต้องได้คนที่ไม่มีมลทินเพื่อความสง่างามของธปท.
อย่างไรก็ตาม นายปิยะสวัสดิ์เห็นว่า นโยบายการเงินไม่สามารถตอบสนองได้ทุกเรื่อง แต่ทุกฝ่ายควรต้องปรับตัวไปด้วย เพราะหากมองภาคการส่งออกก็ต้องการเงินค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่วนผู้ใช้น้ำมันก็ต้องการให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งสวนทางกัน ดังนั้น การแก้ปัญหา จะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินมาใช้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นมากกว่า เพื่อให้ภาระของการกำหนดนโยบายการเงินลดลง
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ระยะ 5-10 ปีข้างหน้าปัญหาการเร่งตัวอัตราเงินเฟ้อจะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและโลกมากกว่าความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวเศรษฐกิจ เพราะต้นทุนน้ำมันจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว มากกว่าที่มองว่าเป็นวัฎจักร และจะส่งผลให้อนาคตการทำนโยบายการเงินจะยากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ธปท.จึงจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในการวางนโยบายการเงิน เพื่อส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องเพื่อปรับตัวล่วงหน้า และการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
"หากใช้ดอกเบี้ยเป็นตัวหลักดูแลเงินเฟ้อ และมีการดูแลค่าเงินเป็นพิเศษ ให้มีเสถียภาพ นอกจากจะเป็นการคานตลาดและทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าค่าเงินจะอยู่ตรงไหนแล้ว อยากให้คิดว่าการดำเนินโยบายการเงินจะลำบากขึ้นหรือไม่ เพราะมีการเปิดเสรีเงินทุนไหลเข้าออก บวกความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงจากต้นทุนน้ำมันในระยะยาว การดำเนินนโยบายการเงินจะยิ่งยากขึ้น" นายศุภวุฒิ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--