บริษัทเอกชนหลายแห่งในญี่ปุ่นได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งภาวะดังกล่าวบั่นทอนอุปสงค์ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกของประเทศ
กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายเงินทุนซึ่งไม่รวมเงินลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ดิ่งลง 7.6% ในไตรมาสที่สอง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสถิติการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่ผลกำไรจากการลงทุนทรุดตัวลง 5.2% โดยรัฐบาลจะข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ตลาดหุ้นและพันธบัตรที่ซบเซาได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่ายอดการใช้จ่ายที่ร่วงลงจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวลงหนักที่สุดในรอบ 7 ปีเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐร่วงหนักกว่าคาด และยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานของเยอรมนีปรับตัวลดลง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
"ตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในขั้นเลวร้ายถึงขีดสุด" โคจิ ไซมาโมโต นักวิเคราะห์จากบีเอ็นพี พาริบาส์ในโตเกียวกล่าว "ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้น แต่ญี่ปุ่น ยุโรป และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนเผชิญช่วงขาลงทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น และภาวะเช่นนี้จะยิ่งกระตุ้นความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมากกว่าเดิม"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 09.22 น. ตามเวลาโตเกียว ดัชนีนิกเกอิดิ่งลง 2.5% แตะที่ 12,248.83 จุด หลังจากดัชนีดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเมื่อวานนี้ ขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของญี่ปุ่นร่วงลงไปอยู่ที่ 1.435%
อุปสงค์ที่ซบเซาทั้งในและต่างประเทศกำลังฉุดรั้งความต้องการสินค้าของญี่ปุ่น ขณะที่ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ได้กัดกร่อนผลกำไรซึ่งทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งหมดแรงจูงใจที่จะใช้จ่ายเงิน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--