นายทองอยู่ คงขันธ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก เปิดเผยถึงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) หยุดให้บริการที่ท่าเรือกรุงเทพว่า ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกอย่างมาก โดยประเมินมูลค่าความเสียหายอย่างน้อยวันละ 450 ล้านบาท รวม 3 วัน คิดเป็นเงินประมาณ 1,350-1,500 ล้านบาท
แบ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กทท. ที่ขาดรายได้จากการให้บริการเรือเทียบท่า การจัดเก็บค่าภาระสินค้า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน การจัดเก็บค่าผ่านทางต่างๆ เป็นเงินวันละประมาณ 50-100 ล้านบาท, กรมศุลกากร ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากสินค้าที่จะเข้ามาใช้บริการท่าเรือกรุงเทพประมาณวันละ 250 ล้านบาท
และ ผู้รับขนส่งสินค้านำเข้าส่งออก ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการที่สินค้าย้ายท่าเรือ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นรวมวันละประมาณ 100 ล้านบาท ขณะนี้มีตู้สินค้าใช้บริการท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มวันละประมาณ 4,000 ตู้ โดยมีตู้สินค้าเข้าออกท่าเรือแหลมฉบังสูงถึงวันละ 18,000 ตู้
"ที่ผ่านมาการรับขนส่งสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพสามารถให้บริการขนส่งสินค้าได้วันละประมาณ 2-4 เที่ยว แต่ขณะนี้การขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังสามารถให้บริการได้วันละ 1 เที่ยวเท่านั้น เพราะการจราจรติดขัดมาก และระยะทางไกลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสทางการค้าที่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือความเสียหายจากความน่าเชื่อถือในการส่งมอบสินค้าให้ตรงต่อเวลาด้วย"นายทองอยู่ กล่าว
นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ท่าเรือกรุงเทพได้ให้บริการขนถ่ายสินค้าตามปกติแล้วตั้งแต่บ่ายวั้นนี้ โดยได้รับรายงานจากผู้บริหาร กทท.ว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการหยุดงาน แต่มีการประชุมใหญ่วิสามัญของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทท.ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องและยุติการประชุมเมื่อเวลา 13.00 น.วานนี้ และในระหว่างการประชุมมีเรือสินค้า 4 ลำ ได้แจ้งขอใช้บริการท่าเรืออื่นแทน โดยใช้ท่าเรือแหลมฉบัง 2 ลำและใช้ท่าเรือเอกชน 2 ลำ
นายเฉลิมชัย มีคุณเอี่ยม ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ เปิดเผยว่า พนักงานกทท.ที่เป็นสมาชิกสหภาพฯกทท.ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้วตั้งเวลา 13.00 น.ของวันนี้ โดยในช่วงบ่ายมีเรือสินค้าเทียบท่า 3 ลำ ซึ่งพนักงานได้ให้บริการขนถ่ายสินค้าตามปกติ และในช่วงเย็นวันเดียวมีเรือสินค้าเทียบท่าอีก 2 ลำ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมารายได้ของท่าเรือกรุงเทพอาจลดลงบ้าง จากปกติจะมีรายได้เฉลี่ยจากเรือสินค้าที่ใช้บริการลำละประมาณ 4 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ถึงหลัก 100 ล้านบาทอย่างแน่นอน เพราะท่าเรือกรุงเทพมีท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ 7 ท่า ซึ่งท่าเรือประเภทนี้จะเป็นรายได้หลัก แต่จะมีเรือสินค้าใช้บริการสูงสุดวันละประมาณ 5-6 ลำเท่านั้น หรือมีรายได้วันละกว่า 20 ล้านบาท ส่วนท่าเรือประเภทอื่นๆมีประมาณ 4-5 ท่า แต่ไม่ได้เป็นรายได้หลักของท่าเรือกรุงเทพ
ฝ่ายนายสมเกียรติ รอดเจริญ ประธานสหภาพฯกทท. กล่าวว่า แม้ว่าการให้บริการของท่าเรือกรุงเทพจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่สหภาพฯจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดมาตรการในกรณีที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการเข้าร่วมการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยจะต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ
อย่างไรก็ตาม สหภาพฯยืนยันว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานั้น ท่าเรือกรุงเทพไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการประชุมใหญ่วิสามัญของสหภาพฯ เพราะได้แจ้งให้บริษัทเรือต่างๆรับทราบล่วงหน้าแล้ว เรือสินค้าจึงใช้บริการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออื่นๆ ยืนยันว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการหยุดงาน แต่ไม่มีเรือสินค้ามาใช้บริการ
"ผู้ที่ออกมาบอกว่ากทท.ได้รับความเสียหายวันละ 100 ล้านบาทนั้น ควรนำข้อมูลหรือหลักฐานมาชี้แจง ไม่ใช่พูดลอยๆ ใครก็พูดได้ หรือจะบอกว่าเสียหายเป็นหมื่นล้านก็ได้ แต่ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะเรือสินค้าที่ย้ายไปท่าเรือแหลมฉบัง ก็ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีรายได้เพิ่มเช่นกัน คนที่เสียหายน่าจะเป็นพนักงานที่เสียโอกาสในการได้ค่าล่วงเวลาในการทำงาน"นายสมเกียรติ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--