นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการติดตามการดำเนินการขยายบริการและส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) เปิดเผยว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) นั้น ในหลักการจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับราคา LPG ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม เพื่อดูแลไม่ให้กลุ่มแท๊กซี่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา LPG ในอนาคต
โดยขณะนี้กระทรวงฯ ได้ประสานงานร่วมกับสมาคมแท็กซี่ที่มีสมาชิกทั้งหมด 40 องค์กร เป็นส่วนกลางในการบริหารจัดการ เพื่อเปลี่ยนรถแท๊กซี่เก่าและรถแท็กซี่ใหม่มาใช้ NGV ให้สอดคล้องกับกำลังผลิตก๊าซและสถานีบริการที่กำลังจะเกิดขึ้น
"กระทรวงพลังงานจะให้การสนับสนุนรถแท็กซี่เปลี่ยนมาติดตั้งอุปกรณ์ NGV แทนอุปกรณ์ LPG ฟรี เป็นเวลา 4 เดือน รวมจำนวน 20,000 คัน หรือเดือนละ 5,000 คัน แบ่งเป็น กลุ่มรถแท็กซี่เก่า เดือนละ 4,200 คัน และกลุ่มรถแท๊กซี่ใหม่เดือนละ 800 คัน" นายณอคุณ กล่าว
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือสำหรับรถแท็กซี่เก่านั้น บมจ.ปตท.(PTT) จะออกค่าปรับเปลี่ยนให้ทั้งหมด 40,000 บาท/คัน กระทรวงพลังงานจะให้เงินช่วยเหลือเพื่อซื้อถัง LPG เก่า เพื่อไม่ให้เกิดการนำถังเก่ากลับมาใช้ใหม่ 3,000 บาท/คัน ขณะที่ในส่วนรถแท๊กซี่ใหม่ ปตท.และกระทรวงพลังงาน จะสนับสนุนให้เงินแท๊กซี่ใหม่คันละ 40,000 บาท โดย ปตท.ช่วยเหลือ 28,000 บาท และกระทรวงพลังงานช่วยเหลือ 12,000 บาท
ปัจจุบันพบว่ามีรถที่เปลี่ยนมาใช้ NGV มากขึ้น โดยสิ้นเดือนสิงหาคม 51 มีผู้ติดตั้ง NGV แล้ว 103,777 คัน เป็นรถเบนซิน 81,890 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถแท็กซี่ 24,202 คัน รถดีเซล 18,470 คัน และรถที่ผลิตจากโรงงาน 3,417 คัน มีปริมาณการใช้ NGV เพิ่มขึ้นเป็น 2,460 ตันต่อวัน (88 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) ขณะที่กำลังผลิตก๊าซ NGV ที่พร้อมจ่ายเข้าระบบวันนี้มีถึง 2,700 ตัน/วัน
ขณะที่สถานี NGV ทั่วประเทศเกิดขึ้นแล้ว 229 สถานี และสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 355 สถานี โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันมีปั๊ม NGV รวม 116 สถานี เมื่อเทียบกับปั๊ม LPG ที่มีอยู่ประมาณ 190 สถานี แต่ภายในสิ้นปี 51จะมีปั๊ม NGV ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายเพิ่มเป็น 200 สถานี ซึ่งจะมีมากกว่าปั๊ม LPG และทำให้เกิดความสะดวกในการเติม NGV ยิ่งขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--