จีนออกมาตรการควบคุมทุนต่างชาติแลกเปลี่ยนเงินตรา มุ่งสกัดเม็ดเงินเก็งกำไร

ข่าวต่างประเทศ Monday September 8, 2008 06:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สำนักงานกำกับดูแลด้านปริวรรตเงินตราของจีนประกาศใช้มาตรการกำกับดูแลด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของวิสาหกิจต่างชาติให้เข้มงวดมากขึ้น โดยจะมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนต่างชาติและการนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นเม็ดเงินเก็งกำไร
มาตรการดังกล่าวกำหนดให้เงินได้สกุลหยวนที่วิสาหกิจต่างชาติได้มาจากการแลกเปลี่ยน นำไปใช้ในหน่วยงานหรือขอบเขตที่ทางการจีนเห็นชอบ และห้ามไม่ให้นำเงินดังกล่าวมาลงทุนในหุ้นของบริษัทภายในประเทศได้ นอกจากนั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติไม่สามารถที่จะนำเงินได้สกุลหยวนที่ได้จากการแลกเปลี่ยน ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการอยู่อาศัยส่วนบุคคล ส่วนการที่วิสาหกิจต่างชาติที่จะนำเงินรายได้สกุลหยวนอันเกิดจากการแลกเปลี่ยนไปลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ก็จะต้องเป็นไปตามมาตรการที่ประเทศกำหนด
เม็ดเงินเก็งกำไรที่ไหลเข้ามาในประเทศกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และทำให้ระบบเงินของประเทศขาดเสถียรภาพ ทำให้เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนต้องทำการตรวจสอบเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างละเอียดเพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินร้อนดังกล่าว
"รัฐบาลต้องควบคุมไม่ให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วเกินไป" เชอร์แมน ชาน นักเศณษฐศาสตร์จาก Moody's Economy.com ในซิดนีย์ กล่าว "วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือการปรับค่าเงินหยวนใหม่"
อย่างไรก็ตาม เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค มั่นใจว่า จีนจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการไหลเข้าของเม็ดเงินเก็งกำไร หรือเงินร้อนได้ แม้ว่าหลายฝ่ายจะแสดงความวิตกกังวลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในจีนเพิ่มมากขึ้น
สถิติของธนาคารกลางจีนระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สิ้นสุด ณ เดือนมิ.ย.อยู่ที่ระดับ 1.809 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.73% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ถีบตัวสูงขึ้น 45.6% แตะที่ 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนมีสัดส่วนคิดเป็นตัวเลขเกือบ 12% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มมากขึ้นบ่งชี้ว่า จีนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินทุน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น อินเดียและพม่า ซึ่งมีตัวเลขบัญชีเดินสะพัดอยู่ในภาวะขาดดุล สำนักข่าวเอพีรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ