ฟิทช์ชี้เงินทุนไหลเข้าเอเชียเริ่มชะลอตัวท่ามกลางเศรษฐกิจโลกย่ำแย่

ข่าวต่างประเทศ Monday September 8, 2008 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวในรายงานพิเศษซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ว่า กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่เอเชียเริ่มที่จะชะลอตัวลงแล้ว โดยมีสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ย่ำแย่ลงเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ แม้ว่าข้อมูลไตรมาสแรกปี 51 ได้ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียยังคงมีกระแสเงินทุนไหลเข้าแข็งแกร่งจากการลงทุนโดยตรง (FDI) และยังคงได้รับเงินกู้จากธนาคารต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่านักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นเอเชียอย่างคึกคักไม่แพ้กัน ขณะที่การออกตราสารหนี้ต่างประเทศก็ชะลอตัวลง
แฟรงคลิน พูน ผู้อำนวยการกลุ่มกองทุนความมั่งคั่งของฟิทช์กล่าวว่า "ขณะที่ตลาดทุนมีความผันผวน ฟิทช์เริ่มไม่แน่ใจว่าภูมิภาคเอเชียจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยตัวเองท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวหรือถดถอย (Asia decoupling) และเชื่อว่าความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจะแซงหน้ากระแสเงินกู้และ FDI"
ฟิทช์กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณว่าเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้าสู่เอเชียได้เริ่มอ่อนตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจาก จีน อินเดีย และสิงคโปร์ ยังคงสามารถดึงดูดเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคได้มหาศาล ขณะที่ เงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflows) สำหรับมองโกเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยยังอยู่ในระดับคงที่
สำหรับประเทศที่นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่าง ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซีย และไต้หวันนั้น ปรากฏว่า เงินลงทุนโดยตรงไหลออก (FDI Outflows) สุทธิ ยังคงเดินหน้าในไตรมาสแรกปีนี้ ตรงข้ามกับกองทุนต่างประเทศที่ลดการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย
โดยฟิทช์ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอยู่ที่ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนมิ.ย.2544 โดยเงินทุนไหลออกมีปริมาณที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2544 ซึ่งเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดเทคโนโลยีและเมื่อเทียบกับปี 2546 ซึ่งเปิดโรคซาร์สระบาด สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้เพิ่มความกังวลเป็นพิเศษต่ออินเดียและเกาหลี เนื่องจากหนี้ของทั้งสองประเทศในธนาคารต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินฝาก
ส่วนการออกตราสารหนี้ต่างประเทศนั้น ได้ปรับตัวลดลงอย่างมากในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย รวมถึงในมาเลเซีย อินเดีย และไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ