นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ คาดว่า รัฐบาลจะสามารถเปิดโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 51/52 ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายรับจำนำประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก ราคารับจำนำเบื้องต้น ข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ประมาณ 14,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ประมาณ 15,000-16,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว จะอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน โดยเตรียมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้(9 ก.ย.)
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)จะมีการประกาศนโยบายรับจำนำข้าวนาปีอย่างเป็นทางการไม่เกินกลางเดือนต.ค.51 ซึ่งคาดว่าจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการรับจำนำ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่ง ส่วนระยะเวลาโครงการรับจำนำคาดจะเริ่มได้ราวกลางเดือนต.ค.51-สิ้นเดือน ก.พ.52
นอกจากนั้น กขช.ยังเห็นชอบตามที่คณะกรรมการแก้ปัญหาข้าวครบวงจร เสนอให้เพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวนาปรังปี 51 เพิ่มอีก 1 ล้านตัน จาก 2.5 ล้านตัน เป็น 3.5 ล้านตัน
"ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 51/52 ที่ประชุมพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และต้องรับจำนำเพื่อไม่ให้ราคาในประเทศตกต่ำ โดยดูจากราคาตลาดในประเทศ ราคาตลาดโลก และสต๊อกรัฐบาลที่มีอยู่ ส่วนราคาจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิจะต้องราคาสูง เพราะเป็นข้าวคุณภาพดี คาดว่ายังคงให้ ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานหลักในการรับจำนำเหมือนข้าวนาปรัง" นายไชยา กล่าว
สำหรับราคาตลาดข้าวเปลือกขณะนี้ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 12,000-13,000 บาท ลดลงจากราคารับจำนำที่ตันละ 14,000 บาท เพราะภาวะตลาดซบเซา การส่งออกนิ่ง จึงส่งผลต่อราคาในประเทศ ส่วนข้าวขาว 100% ตันละ 22,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 14,000-15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 24,000-25,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 7,500-7,700 บาท
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าที่ตันละ 14,000 บาทจะทำให้ราคาส่งออก ณ ท่าเรือ(FOB) อยู่ที่ตันละ 750 ดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามขายอยู่เพียงตันละ 550 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้การส่งออกข้าวไทยในปีหน้าลำบากหรืออาจส่งออกได้เพียง 8 ล้านตัน ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะส่งออกได้เกือบ 10 ล้านตัน
ทั้งนี้เห็นว่าราคารับจำนำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ตันละ 12,000 บาทสำหรับข้าวเปลือกเจ้า เพราะต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 6,000-7,000 บาท เมื่อรัฐกำหนดราคารับจำนำสูงจะทำให้เกษตรกรแห่มาจำนำ คาดสต๊อกรัฐจะเพิ่มเป็น 7-8 ล้านตัน ซึ่งผู้นำเข้าไม่ต้องเร่งซื้อจากไทย เพราะมีข้าวมาก จึงจะยิ่งเป็นการกดดันให้ราคาส่งออกข้าวไทยลดลง ดังนั้นรัฐบางจำเป็นต้องเร่งระบายสต๊อกข้าวโดยเร็วที่สุด
นายประสิทธิ์ บุญเฉย รักษาการนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า สมาคมฯ พอใจกับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี แม้จะต่ำกว่าราคาที่สมาคมฯ ร้องขอ แต่สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือสต๊อกข้าวรัฐบาลที่ยังไม่มีการระบายออกไป โดยเฉพาะข้าวเปลือกนาปรังที่รัฐบาลรับจำนำเพิ่มเข้ามาอีก เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ซึ่งรัฐบาลต้องรีบระบายออกโดยเร็วที่สุด
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--