ไฮแมนชู พาเทล นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เชื่อว่า ความเสี่ยงที่บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม), บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ และบริษัทไครส์เลอร์ จะล้มละลายนั้น ลดน้อยลงแล้ว เพราะมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทรถยนต์ทั้ง 3 แห่งจะได้รับเงินกู้จากรัฐบาลสหรัฐเป็นวงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์
"เงินกู้ดังกล่าวซึ่งมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นอย่างดี เพราะรถยนต์ประเภทดังกล่าวเป็นที่นิยมในรัฐมิชิแกน โอไฮโอ และเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่คะแนนไม่นิ่ง หรือ "สวิง สเตท"
"ผมเชื่อว่าสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการสนับสนุนเทคโนโลยีรถยนต์ประหยัดพลังงานก็คือการยื่นมือเข้าช่วยเหลือบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ให้รอดพ้นจากการล้มละลาย และหากแผนการดังกล่าวได้รับอนุมัติ ก็จะทำให้ความเสี่ยงที่บริษัทผลิตรถยนต์ทั้ง 3 แห่งจะล้มละลายนั้น ลดน้อยลงด้วย" พาเทลกล่าว
จีเอ็มและฟอร์ดขาดทุนถึง 2.41 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 เนื่องจากราคาเบนซินพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปนิยมใช้รถบรรทุกขนาดเบา ซึ่งทำให้บริษัทคู่แข่งในต่างประเทศได้เปรียบในเรื่องนี้ อาทิ บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ ส่งอาจฉุดยอดขายรถยนต์โดยรวมในสหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปีในปีนี้ และคาดว่าจะร่วงลงอีกในปีหน้า
การคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะปล่อยวงเงินกู้ให้กับจีเอ็มและฟอร์ด มีขึ้นหลังจากมีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐประกาศแผนเข้าเทคโอเวอร์ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน (GSE) และมีหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อบ้าน โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยพยุงสถาบันการเงินทั้งสองให้พ้นภาวะล้มละลาย และปกป้องตลาดที่อยู่อาศัยไม่ให้ได้รับความเสียหายมากไปกว่านี้
ในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า จีเอ็มอาจต้องระดมทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมเตือนว่าการระดมเงินทุนของจีเอ็มอาจจะทำได้ลำบากเนื่องจากตลาดทุนตกอยู่ในภาวะตึงตัว แต่พาเทล ออกรายงานตอบโต้ว่า จีเอ็มจะสามารถระดมทุนได้ไม่ยาก พร้อมยืนยันว่า บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐที่จะต้องยื่นเรื่องล้มละลายในอนาคตคือ ไครสเลอร์ ไม่ใช่จีเอ็ม ตามที่เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์
อย่างไรก็ตาม อารอน แบร็กแมน นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์จากบริษัทโกลบอล อินไซท์ กล่าวว่า "มุมมองของนักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทที่มีต่อบริษัทรถยนต์กลุ่ม "บิ๊กทรี" ของสหรัฐนั้น ค่อนข้างจะหลากหลาย เนื่องจากตลาดรถยนต์ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน แผนการทำกำไรของบริษัทล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นและราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--