ประธานกลต.เวียดนามย้ำจะควบคุมราคาหุ้นไอพีโอ-การจดทะเบียนเพื่อกระตุ้นตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 9, 2008 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          วู บัง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์เวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามจำเป็นต้องควบคุมการตั้งราคาหุ้นไอพีโอ และกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องระยะเวลาในจดทะเบียนเพื่อกระตุ้นยอดขายหุ้น ในขณะที่นักลงทุนอย่างบริษัท เวียดนาม ออพพอทูนิตี้ ฟันด์ และพีเอ็กซ์พี เวียดนาม แอสเสท เมเนจเมนท์ ก็มองว่า หุ้นไอพีโอของบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของนั้นราคาสูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นโยบายของรัฐบาลในการขายหุ้นขององค์กรที่รัฐบาลเป็นเจ้าของนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่อิงตลาดเป็นพื้นฐานนั้นทำให้ดัชนี VNI ดิ่งลงถึง 43% ในปีนี้ โดยราคาหุ้นไอพีโอตกลงถึง 1 ใน 4 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี จากช่วงระยะเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
ประธานคณะกรรมการฯกล่าวว่า เราจะควบคุมขั้นตอนการประเมินราคา การเลือกที่ปรึกษา และนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลอย่างเข้มงวดมากขึ้น
บลูมเบิร์กรายงานว่า เวียดคอมแบงค์ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐแห่งแรกเตรียมขายหุ้น แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งกินเวลาผ่านไปแล้วถึง 9 เดือนหลังจากที่ขายหุ้นไอพีโอมูลค่า 656 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนาม คอนสตรัคชั่น แอนด์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จอยท์ สต็อค ได้ขายหุ้นครั้งแรกในตลาดเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งนับเป็นเวลาได้เกือบ 2 ปีหลังจากที่ได้ขายหุ้นไอพีโอ
คณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ซึ่งกำกับดูแลตลาดหุ้นมูลค่า 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์ จะบังคับให้บริษัทต่างๆยึดกฎเกณฑ์เรื่องระยะเวลาในการจดทะเบียน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการฯไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าบริษัทจะต้องใช้เวลาเท่าใดก่อนที่จะเริ่มซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาด
เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว รัฐบาลได้ขายหุ้นเวียดคอมแบงค์ที่ราคาขั้นต่ำที่ 100,000 ดอง หรือ 6 ดอลลาร์ต่อหุ้น ราคาเฉลี่ยที่ยอมรับกันที่ 107,860 ดอง
เควิน สโนว์บอลล์ ซีอีโอของพีเอ็กซ์พี แอสเส็ท เมเนจเมนท์ ซึ่งบริหารหลักทรัพย์มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯจำเป็นต้องดูแลเรื่องราคาหุ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และกระตุ้นให้นักลงทุนรู้สึกว่าสามารถทำเงินได้จากหุ้นในตลาด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ