เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของสหัฐ เปิดเผยว่า บริษัทมียอดขาดทุนไตรมาส 3 มูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทมานานถึง 158 ปี เนื่องจากบริษัทต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี 5.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์
เลห์แมน บราเธอร์ส กำลังกลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดของภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐและวิกฤตการเงินทั่วโลก อีกทั้งมีกระแสข่าวไปทั่วตลาดวอลล์สตรีทว่า เลห์แมนไม่สามารถจะระดมทุนใหม่ได้ในเร็ววันนี้ ส่งผลให้หุ้นของเลห์แมนดิ่งลงหนักถึง 45% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
โรเบิร์ต แกรนท์ นักวิเคราะห์จากบริษัท อิสเทิร์น อินเวสเมนท์ แอดไวเซอร์ส ในบอสตันกล่าว การขาดทุนและสภาวะที่ต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี ทำให้เลห์แมนดิ้นรนทางเลือกต่างๆ ในการระดมเม็ดเงินใหม่เข้ามา รวมถึงการขายหุ้นจำนวนหนึ่งให้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี) และการตัดขายกิจการในเครือส่วนที่ยังทำกำไรได้ อาทิ หน่วยงานบริหารจัดการการลงทุน แต่ความพยายามเหล่านี้ยังไม่บังเกิดผล
ปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์สยังทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐอาจเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของเลห์แมน หลังจากเพิ่งเข้าไปกอบกู้ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค 2 สถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายยักษ์ใหญ่ไม่ให้ล้มละลายเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่าน รวมทั้งการเข้าไปสนับสนุนการเทคโอเวอร์วาณิชธนกิจแบร์สเติร์นส์ เมื่อหลายเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐยังไม่ได้ออกมาตอบสนองกระแสคาดการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ แกรนท์กล่าวว่า "หนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหารุนแรงมาจากการที่เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศเลื่อนการเผยแพร่เอกสาร "ยุทธศาสตร์ความริเริ่มสำคัญ" รวมทั้งรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสเร็วขึ้นหนึ่งสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บรรดาสถาบันการเงินรายใหญ่ในวอลสตรีท รวมถึง โกลด์แมน แซคส์ แถลงว่ายังคงทำธุรกรรมทางการเงินกับเลห์แมนอยู่"
ราคาหุ้นเลห์แมน บราเธอร์สในตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลง 6.36 ดอลลาร์ ปิดที่ 7.79 ดอลลาร์ หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 7.64 ดอลลาร์ ซึ่งการร่วงลงรุนแรงนี้ทำให้มูลค่าตลาดของเลห์แมนหายไปถึง 4,400 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว อีกทั้งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวันอังคารด้วย
นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่า ริชาร์ด ฟัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเลห์แมน จะไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอต่อการดำเนินงานของบริษัท หากว่าเลห์แมนต้องตัดยอดขาดทุนเพิ่มขึ้นที่มาจากการลงทุนในตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินทรัพย์ที่ไร้สภาพคล่อง
รายงานระบุว่า เลห์แมนกำลังดูทางเลือกอื่น ๆ อาทิ การขายบริษัท นิวเบอร์เกอร์ แอนด์ เบอร์แมน ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการสินทรัพย์ และเป็นธุรกิจที่ยังแข็งแกร่งที่สุดธุรกิจหนึ่งของเลห์แมน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดกันว่าน่าจะทำเงินได้ราว 7,000-8,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้เลห์แมนก็ยังอาจจะขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่เลห์แมนถืออยู่จำนวนมหาศาลด้วย ส่วนการขายหุ้นให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาของเกาหลี (เคดีบี) นั้น คาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก
ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) เตือนว่า S&P อาจอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของเลห์แมน บราเธอร์ซึ่งขณะนี้ยืนอยู่ที่ระดับ "A" เนื่องจากนี้เลห์แมนมี "ความไม่มั่นคงสูง" โดยเฉพาะเรื่องการระดมทุนเพื่อพยุงสถานะ ขณะที่ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--