กลุ่มผู้บริหารของธนาคารในสหรัฐต่างยุ่งอยู่กับการเจรจาต่อเรื่องกองทุนที่จะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก หลังจากที่มีการเดินหน้าเจรจาเพื่อขายหุ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์ส ไปจนถึงอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เองก็กำลังพิจารณาเรื่องการขยายขอบเขตการปล่อยเงินกู้โดยตรง โดยเป้าหมายของกองทุนของธนาคารเหล่านี้อาจจะมีมูลค่าอย่างน้อย 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน
บลูมเบิร์กรายงานว่า การเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเลห์แมน วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐอาจจะล้มละลาย ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้การซื้อขายล่วงหน้าดัชนี S&P 500 ร่วง 2.5% ในการซื้อขายในเอเชีย นายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และทิโมธี ไกท์เนอร์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กได้ประชุมฉุกเฉินกับผู้บริหารตลาดหุ้นนิวยอร์กในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เพื่อหาทางสกัดปัญหาสถาบันการเงินไม่ให้ดำดิ่งลงจนเป็นวิกฤตสินเชื่อ
นักวิเคราะห์ของลาเดนเบิร์ก ทัลแมน กล่าวว่า การล้มละลายของเลห์แมน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงๆก็จะทำให้ระบบอื่นๆเข้าสู่ภาวะวิกฤต และจะจุดชนวนให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาทั่วโลก และระบบการธนาคารก็จะย่ำแย่หนัก
เจ้าหน้าที่เฟดได้ให้ปรับเงินกู้โดยตรงที่ให้กับธนาคารพาณิชย์มีความน่าสนใจมากขึ้นในปีนี้ เพื่อคลี่คลายภาวึตึงเครียดด้านการระดมทุน ด้วยการลดดอกเบี้ยลง 0.25% และได้ขยายระยะเวลาการปล่อยกู้แบบ discount-window ไปเป็น 90 วัน
และในช่วงที่แบร์ สเติร์นส์ ล่มสลายเมื่อเดือนมี.ค. ทางเฟดก็ได้เสนอให้วาณิชธนกิจสามารถเข้าถึงและขอเงินกู้โดยตรงได้ในอัตราเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์
ที่ผ่านมา พอลสันและเฟดไม่เห็นด้วยกับการใช้กองทุนของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเลห์แมน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--