ขุนคลัง-แบงค์ชาติยุโรปเมินใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสหรัฐ-เสียงแตกเรื่องอุ้มแบงค์มีปัญหา

ข่าวต่างประเทศ Monday September 15, 2008 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปไม่มีแผนการดำเนินการตามแบบสหรัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ถึงวิธีการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหา
บลูมเบิร์กรายงานว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐจับตาอนาคตของเลห์แมน บราเธอร์สอย่างใกล้ชิด ผู้บริหารระดับนโยบายของยุโรปซึ่งได้ประชุมกันที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศสก็ไม่สามารถตกลงกันได้ถึงวิธีการแบ่งรับต้นทุนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากว่า การล่มสลายของธนาคารได้ลุกลามเป็นวงกว้างในภูมิภาค และยังได้ส่งสัญญาณด้วยถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในการควบคุมและยอดขาดดุลงบประมาณว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีกว่าในการฟื้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วิธีการลดภาษีและลดอัตราดอกเบี้ย
นาตาชา วาลา อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรปและปัจจุบันทำงานอยู่ที่โกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้บริหารระดับนโยบายของสหรัฐจะมีบทบาทเชิงรุกมากกว่าในการสนับสนุนเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพในตลาดเงิน ขณะที่ยุโรปจะเลือกจุดยืนเชิงรุกน้อยกว่า
ความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้านนโยบายเงินตราและการเงินอาจจะส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจจะใช้เวลานานกว่านี้กว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ หลังจากที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจหดตัวลง 0.2% คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวช้าลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนีและสเปนได้อ่อนตัวลงสู่ภาวะถดถอย ส่วนเศรษฐกิจอิตาลีและฝรั่งเศสเองก็หยุดชะงักงัน
ดาริโอ เพอร์คินส์ นักเศรษฐศาสตร์ของเอบีเอ็น แอมโร กล่าวว่า ยุโรปกำลังเผชิญอยู่กับการชะลอตัวที่ยาวนาน และฟื้นตัวในระดับค่อยเป็นค่อยไปแค่นั้น
นิโคลัส เวอรอน นักเศรษฐศาสตร์ของบรูเกล สถาบันวิจัยของเบลเยี่ยม กล่าวว่า การที่ยุโรปไม่มีแผนการรับภาระต้นทุนร่วมกันหมายความว่า สถาบันการเงินในยุโรปอาจจะประสบปัญหาที่ใกล้เคียงกับแบร์ สเติร์นส์ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เผชิญมา
รัฐมนตรีสามารถตกลงกันได้เฉพาะเรื่องการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารอย่างใกล้ชิดกันเท่านั้น รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะร่วมกันจัดการวิกฤตใดๆที่อาจเกิดขึ้น แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับแผนการแบ่งรับภาระที่เกิดจากปัญหาสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงินต้องล่มสลาย
เวอรอนกล่าวว่า การตอบสนองด้านนโยบายของยุโรปเป็นไปอย่างล่าช้าและมีประสิทธิภาพน้อยกว่า เนื่องจากขาดแคลนกรอบนโยบาย และอาจจะทำให้เกิดต้นทุนกับเศรษฐกิจมากขึ้นหากว่ามีสถานการณ์ใดๆเกิดขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ